เรื่อง ขอความเห็นชอบการเพิ่มพื้นที่การดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” และ (ร่าง) แผนแม่บทโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำหมัน จังหวัดเลย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำหมัน ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพิ่มเติมจำนวน 1 พื้นที่
2. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำหมัน ตำบล กกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2558 – 2559)
3. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำหมัน ตำบลกกสะทอน จังหวัดเลย จัดทำแผนงาน/โครงการภายใต้กรอบแผนแม่บทโครงการฯ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า การดำเนินงานโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำหมัน จังหวัดเลยเป็นการขยายพื้นที่การดำเนินงานโครงการฯ เพิ่มเติม ประกอบกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจำเป็นต้องมีแผนแม่บทเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน การจัดทำแผนปฏิบัติงาน และการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกรอบแนวคิดหลักการพัฒนาประกอบด้วย การดำเนินงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มุ่งพัฒนาคนและพื้นที่ไปพร้อมกัน โดยยึดพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นหลักดำเนินการพัฒนา ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาตามแผนแม่บทโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2557) โดยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. โครงการ“รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ลุ่มน้ำหมัน ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2558 – 2559) ยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 เป็นแนวทาง การกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานสรุปว่า “การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทำนองสร้างสรรค์ไม่ใช่การทำลาย โดยสำหรับแหล่งน้ำต้องพัฒนาตามลุ่มน้ำ” โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 10 หมู่บ้าน 1 กลุ่มบ้าน 2,376 ครัวเรือน ประชากร 7,735 คน ในตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
2. วิสัยทัศน์“ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำได้รับการพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนกับป่าอยู่ร่วมกัน พึ่งพิงและเกื้อกูลกันบนพื้นฐานความพอเพียง ชุมชนมั่นคงเข้มแข็ง คนมีชีวิตที่ดีสามารถพึ่งตนเองได้ มีส่วนร่วมในการพัฒนาและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ”
3. วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์หลักเพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติและสภาพป่า ต้นน้ำลำธารและขยายผลแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้
1) เพื่อจัดตั้งถิ่นฐานถาวรและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำและลุ่มน้ำตามแนวพระราชดำริการอยู่ร่วมกันของคนและป่าอย่างสมดุลยั่งยืน
2) เพื่ออนุรักษ์พัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมชุมชนเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
3) เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและการมีงานทำให้กับประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำให้พออยู่พอกินและพึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงด้านอาหารเพื่อก้าวไปสู่การเหลือกินเหลือใช้
4) เพื่อพัฒนาคุณภาพในชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมีโอกาสเข้าถึงบริการพื้นฐาน ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคงปลอดภัยและคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
5) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการพัฒนาในพื้นที่ลุ่มนำ มุ่งบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นองค์รวม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
4. ยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน
1) ยุทธศาตร์การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางการดำเนินงาน จำนวน 6 แนวทาง
2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต มีแนวทางการดำเนินงาน จำนวน 3 แนวทาง
3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและคุณภาพชีวิตของคนมีแนวทางการดำเนินงาน จำนวน 2 แนวทาง
4) ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมีแนวทางการดำเนินงาน จำนวน 3 แนวทาง
5. หลักการการบริหารจัดการแผนไปสู่การปฏิบัติ
1) ขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาโครงการฯ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยึดแนวพระราชดำริที่พระราชทานให้ไว้เป็นองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนโดยบูรณาการดำเนินงานอย่างเป็นองค์รวม
2) มีการใช้ “แผน”เป็นเครื่องมือการดำเนินงานและแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติตามสภาพสังคมในลุ่มน้ำ ยึดหลักการพัฒนา “พื้นที่ภารกิจและการมีส่วนร่วม” (Area Function Participation : APP) โดยใช้ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ ทุนธรรมชาติ และทุนวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน
3) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นหน่วยงานแกนกลางในการขับเคลื่อนการปฏิบัติสู่หมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 สิงหาคม 2558--