กก.รายงานว่า
1. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จแล้ว โดยคงหลักการเดิมตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ในส่วนอำนาจของคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และวัตถุประสงค์ของกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว
2. ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้วตามข้อ 1 จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้เข้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย รวมถึงการควบคุมการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและการเป็นมัคคุเทศก์ให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ และพระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับภารกิจของกรมการท่องเที่ยวในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยาม “ธุรกิจนำเที่ยว” “นักท่องเที่ยว” “มัคคุเทศก์” “ผู้นำเที่ยว” “ค่าบริการ” “กองทุน”
2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์โดยเพิ่มให้มีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ และแก้ไขตำแหน่งกรรมการจาก “ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว” เป็น “ตำแหน่งอธิบดีกรมการท่องเที่ยว”
3. แก้ไขการกำหนดหลักเกณฑ์และลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมทั้งผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด
4. เพิ่มเติมการจัดทำเอกสารโฆษณาหรือชี้ชวนเกี่ยวกับการนำเที่ยว ให้มีรายการกำหนดจำนวนมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวด้วย
5. เพิ่มเติมการยกเลิกการเดินทางภายหลังการชำระค่าบริการแล้วให้รวมถึงเหตุกรณีการยกเลิกการเดินทางโดยมิใช่ความผิดของนักท่องเที่ยวหรือเหตุสุดวิสัยให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินคืนให้แก่นักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าอัตราตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
6. แก้ไขเพิ่มเติมห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการนำเที่ยวโดยไม่ได้รับค่าบริการหรือรับค่าบริการในอัตราที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ
7. แก้ไขเพิ่มเติมให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ได้แก่ กรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 12 (3) กรณีการก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวอย่างร้ายแรง เป็นต้น
8. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ยังมิได้ชำระค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจนำเที่ยวและเงินเพิ่มตามวรรคสอง มาตรา 35 ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวสิ้นสุด
9. กำหนดเหตุให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวสิ้นสุด ได้แก่ การไม่ชำระค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามที่กำหนด
10. กำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญา
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 สิงหาคม 2558--