เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
รง. เสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายที่ตรามาใช้บังคับแทนหมวด 8 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2553 แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ กำหนดว่าในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงประกาศ หรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ ให้นำกฎกระทรวงที่ออกตามความในหมวด 8 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงมีผลทำให้กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่างและเสียง พ.ศ. 2549 ซึ่งออกตามความในหมวด 8 ดังกล่าว มีผลใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ จึงจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ ออกมาบังคับใช้แทนกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2549 เพื่อกำหนดมาตรฐานการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับความร้อน แสงสว่างและเสียง ให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. หมวด 1 ความร้อน กำหนดให้นายจ้างควบคุมและรักษาระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างทำงานอยู่มิให้เกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดติดประกาศแจ้งเตือนให้ลูกจ้างทราบในบริเวณที่มีแหล่งความร้อน จัดให้มีมาตรการควบคุมหรือลดภาระงาน และจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงาน
2. หมวด 2 แสงสว่าง กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้สถานประกอบกิจการมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด รวมถึงให้นายจ้างจัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลหรือมาตรการที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างตามสภาพและลักษณะงาน
3. หมวด 3 เสียง กำหนดให้นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงมิให้ลูกจ้างรับสัมผัสเสียงในบริเวณสถานประกอบกิจการมิให้เกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด จัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล จัดให้มีเครื่องหมายเตือนให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์ การได้ยินในสถานประกอบกิจการ
4. หมวด 4 อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล กำหนดให้นายจ้างต้องจัดและดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามความเหมาะสมกับลักษณะงานตลอดเวลาที่ทำงาน ให้นายจ้างบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้อยู่ในสภาพและสามารถใช้การได้อย่างปลอดภัย และจัดให้ลูกจ้างได้รับการอบรมเกี่ยวกับวิธีการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย
5. หมวด 5 การตรวจวัดวิเคราะห์สภาวะการทำงานและการรายงานกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่างหรือเสียงภายในสถานประกอบกิจการ และจัดทำรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทำงาน
6. หมวด 6 การตรวจสุขภาพและการรายงานผลการตรวจสุขภาพ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานในสภาวะการทำงานที่อาจได้รับอันตรายจากความร้อนแสงสว่าง หรือเสียง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2558--