ภาวะสังคมไตรมาสที่สองของปี 2558

ข่าวการเมือง Tuesday September 8, 2015 18:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไตรมาสที่สองของปี 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงาน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญไตรมาสที่สองของปี 2558

1.1 การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นช้าในไตรมาสสองของปี 2558 ผู้มีงานทำมีจำนวน 37,751,800 คนลดลงร้อยละ 0.2 จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นการจ้างงานลดลง ในภาคเกษตรร้อยละ 5.8 เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลง นอกจากนี้ภาวะฝนแล้งส่งผลให้เกษตรกรต้องเลื่อนฤดูกาลเพาะปลูกจากช่วงเดือนพฤษภาคมไปเป็นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมทำให้แรงงานเกษตร 315,848 คนเป็นแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 ซึ่งไม่นับเป็นผู้ว่างงาน อย่างไรก็ตามการจ้างงานภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วและสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาคนอกเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.88 ลดลงจากร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้วแรงงานมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย (ทุกสถานภาพ) 43.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.5 ค่าจ้าง แรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 3 มาตรการ ได้แก่ การให้เลื่อนเวลาการเพาะปลูก การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูก และร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการจัดหาทุนเพื่อปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรผสมผสาน นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนจำนวน 6.54 พันล้านบาท

1.2 หนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกปี 2558 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ10,570,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 79.9 สำหรับไตรมาสสองของ ปี 2558 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 3.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย การซื้อที่ดิน และการบริโภคอื่นยังคงเพิ่มขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ทั้งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อภายใต้การกำกับ และบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 22.8 และ 28.0 ตามลำดับ และสัดส่วนหนี้เสียต่อยอดคงค้างของสินเชื่อเหล่านี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ (1) การดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ โดยตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม-1 กรกฎาคม 2558 มีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์แล้ว 9 ราย และเปิดให้บริการแล้ว 3 ราย และ (2) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนส่วนราชการและเขตพื้นที่การศึกษา คณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู คณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามลูกหนี้ค้างชำระ เพื่อทำหน้าที่กำกับ ติดตามหนี้ค้างชำระ ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการครูใหม่ เพิ่มวงเงินกู้ยืมของครูจากเดิมรายละ 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท และดำเนินการร่วมกับธนาคารออมสินในการปรับโครงสร้างหนี้ครู

1.3 คุณภาพการศึกษาเป็นปัญหาเร่งด่วน การประเมินผลการสอบ ONET ในปี 2553-2557 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักไม่ถึงร้อยละ 50 ค่าเฉลี่ยวิชาหลัก ม.6 ต่ำสุด อยู่ระหว่าง 29.52-37.31 และนักเรียนในเขตกรุงเทพฯ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยในทุกระดับสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในเขตภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องอีกทั้งยังมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบโดยมีประเด็นที่เร่งรัดผลักดันได้แก่ การปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การปรับตารางการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่น การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ การขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมโดยการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยคัดเลือกครูจากโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงและโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นโรงเรียนต้นทางในการถ่ายทอดสดการสอนไปยังโรงเรียนปลายทาง การส่งเสริม/เพิ่มบทบาทของสถานประกอบการต่างๆ ในการเสนอแนะเพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาระบบการสรรหาและพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ

1.4 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ใน ไตรมาสสองของปี 2558 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 8.2 โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า และต้องเฝ้าระวังโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน การระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์สอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะยุติ รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

1.5 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ในไตรมาสสองของปี 2558ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมูลค่า 33,971 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ3.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 15,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 2.3และเมื่อพิจารณาอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.2 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 32.3 ในปี 2557 แม้ว่ากลุ่มเยาวชนจะมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจากปี 2556 หากยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายเนื่องจากมีสถานบริการและร้านขายปลีกกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณใกล้สถานศึกษาหรือหอพัก และสถานบริการหรือผู้ขายยินยอมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการและซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้ออกคำสั่งเรื่อง “มาตรการในการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ” เพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเด็ดขาด

1.6 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยรวมดีขึ้น สถานการณ์ยาเสพติดดีขึ้นจากการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่คดีทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นคดีอาญารวมในไตรมาสสองของปี 2558 ลดลงร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 คดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 คดียาเสพติดยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 77.3 ของคดีอาญารวม โดยลดลงร้อยละ 37.3 เป็นผลจากการที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและอย่างจริงจัง รวมทั้งเน้นการสกัดกั้นจุดเสี่ยงและจุดตัดตามแนวชายแดนป้องกันไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน

1.7 การสร้างพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยต่อคนเดินเท้าเพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรทางบก แม้สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกในไตรมาสสองของปี 2558 ลดลงร้อยละ 3.4 มีผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ขณะที่อุบัติเหตุรถยนต์ชนคนเดินเท้าเสียชีวิตประมาณร้อยละ 15 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพถนนมีปัจจัยเสี่ยงต่อคนเดินถนนค่อนข้างมากโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนที่ไม่มีเกาะกลาง และคนเดินข้ามถนนมักถูกรถชนในช่วงทางตรงและทางแยก ก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงและสูญเสียเพิ่มขึ้นมาก

1.8 ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป ถึงแม้ระยะเวลาที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังคงถูกจัดอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประเมินการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2557-31 มีนาคม 2558 รัฐบาลไทยยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังเพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรมภายใต้หลักการมาตรฐานสากล 5P (Policy, Prosecution, Protection, Prevention, Partnership) ด้วยการเติมเต็มในเรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับมาทำซ้ำอีก การยกระดับการประชาสัมพันธ์ปัญหาการค้ามนุษย์ต่อสาธารณะทั้งในด้านปัญหาและแนวทางการป้องกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไข เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีความจริงจังไม่ละเว้นในการปราบปราม ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล

1.9 การคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับไขมันทรานส์ยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและตายที่สำคัญ ในหลายประเทศได้มีมาตรการ เพื่อลดการใช้ไขมันชนิดนี้ในการปรุงอาหาร อาทิ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกาฯลฯ สำหรับประเทศไทยพบว่ามีอาหารหลายชนิดที่มีไขมันทรานส์ที่ค่อนข้างสูง อาทิ โดนัท เวเฟอร์ ครัวซองค์ มาการีนฯลฯ แต่ประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับในการแสดงไขมันทรานส์บนฉลากซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดให้มีการแสดงฉลาก รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้ความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดให้กับผู้บริโภค

2. บทความพิเศษเรื่อง “การทำงานของผู้สูงอายุ: ความจำเป็นที่ต้องผลักดัน”

2.1 การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยเพิ่มจากร้อยละ 6.8 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 14.9 ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 32.1 ในปี 2583 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้น จากการศึกษาบัญชีกระแสการโอนประชาชาติในปี 2583 พบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะทำให้การขาดดุลรายได้เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุขาดความมั่นคงด้านรายได้เนื่องจากเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในระยะเวลาหลังชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น แหล่งรายได้จากบุตรหลาน มีแนวโน้มลดลง ภาวะขาดแคลนแรงงานขณะที่การพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้านมีข้อจำกัดจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยในเวลาใกล้เคียงกัน รวมทั้งภาระการคลังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

2.2 ปี 2557 มีผู้สูงอายุทำงาน 3.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 38.4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด จำนวน 2 ใน 3 ทำงานธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ร้อยละ 90 เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนลูกจ้างเอกชนที่ลดลงก่อนอายุ 60 ปี โดยอยู่ในภาคเกษตรฯ ร้อยละ 63.8 ขณะที่แรงงานสูงอายุในระบบกระจายอยู่ในภาคเกษตร การผลิตอุตสาหกรรม และค้าส่งค้าปลีก โดยอาชีพและสาขาที่ผู้สูงอายุทำอยู่จะสอดคล้องกับสาขาที่มีการขาดแคลน ด้านความต้องการแรงงานพบว่าภาคเอกชนรับรู้การเป็นสังคมสูงวัยแต่ยังขาดความตระหนักถึงผลกระทบและการเตรียมการ โดยสาขาโรงแรมภัตตาคารและการขนส่งมีการจ้างแรงงานหลังครบกำหนดอายุการทำงานมากที่สุด ด้านอุปทานแรงงานส่วนใหญ่ต้องการทำงานถึงอายุ 60 ปี เนื่องจากภาคเอกชนส่วนใหญ่จะกำหนดอายุครบกำหนดการทำงานที่อายุ 55 ปี รวมถึงทัศนคติที่เห็นว่าอายุเกิน 60 ปีเป็นผู้สูงอายุที่ควรพักผ่อน แรงงานร้อยละ 60 ไม่แน่ใจว่าควรมีการขยายอายุครบกำหนดการทำงานหรือไม่ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนและเกรงจะกระทบสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากประกันสังคม สำหรับการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการให้เป็นการจ้างงานตามความสมัครใจ มีความยืดหยุ่น รวมทั้งมีการสนับสนุนจากรัฐในการเพิ่มแรงจูงใจ การสร้างกลไกเพื่อสนับสนุน ตลอดจนการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบและความจำเป็นของการทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์จากต่างประเทศที่เน้นการเพิ่มแรงจูงใจ การเปลี่ยนทัศนคติ และการพยายามเพิ่มการจ้างงาน

3. ประเด็นสังคมที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป มีดังนี้

3.1 ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงานได้แก่ รายได้ของแรงงานลดลงทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการลดชั่วโมงการทำงานลงของผู้ประกอบการ การเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลง และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

3.2 การลดปัญหาอาชญากรรมยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดในการกดดัน ควบคุม ป้องกันและปราบปราม ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกทางสังคม

3.3 การสร้างความปลอดภัยในการป้องกันหรือคุ้มครองการบาดเจ็บและการสูญเสียในกลุ่มคนเดินเท้าโดยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้รถใช้ถนน และการปฏิบัติตามกฎจราจร การกำหนดความเร็วให้เหมาะสมกับประเภทของถนน

3.4 แนวทางการส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุโดย (1) การใช้มาตรการจูงใจการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานสูงอายุขยายเวลาการทำงาน อาทิ การสร้างงานที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ การลดการออกจากงานก่อนครบกำหนด การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ และการทบทวนเกณฑ์และผลประโยชน์ที่แรงงานจะได้รับจากการครบกำหนดการทำงานด้านผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงาน อาทิการสร้างความตระหนักของผลกระทบจากเข้าสู่สังคมสูงวัยการกำหนดงานเฉพาะที่แรงงานสูงอายุจะได้รับการพิจารณาพิเศษ การปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานของผู้สูงอายุ (2) การลดอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยการสร้างทัศนคติและค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การทำงานและการออมการปรับเงื่อนไขการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ทำงาน การเดินทางและใช้ชีวิตให้เหมาะสม (3) มาตรการสนับสนุน โดยการปรับปรุงกฎหมายการไม่เลือกปฏิบัติกับลูกจ้างสูงอายุ การสร้างระบบคัดกรองและจัดทำข้อมูลผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน การพัฒนาระบบประเมินและการกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสมรรถนะการให้มีศูนย์บริการการจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ และ (4) การสร้างระบบการเงินการคลังมหภาค เพื่อพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญและการออมให้เอื้อต่อส่งเสริมให้เกิดการขยายอายุการทำงานรวมทั้งมีกลไกในการจัดการการพิจารณานโยบายและมาตรการที่ครอบคลุมบำเหน็จบำนาญทุกกลุ่มเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มต่างๆและ (5) การเตรียมความพร้อมคนไทยเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า โดยเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคนไทยตลอดช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุเพื่อให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่าและมีสุขภาพแข็งแรง การส่งเสริมการพัฒนาทักษะและอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยและผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความพร้อมในทุกมิติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ