สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขเพิ่มเติมให้กรรมการหรือที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ครบวาระแล้ว ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
2. กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจมอบหมายให้บุคคลภายนอกดำเนินการแทนสำนักงานได้บางภารกิจ เช่น การตรวจสอบเครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจำเป็น ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
3. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไของค์การการค้าโลก (WTO) เช่น ยกเลิกกิจการผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศการบังคับใช้วัตถุดิบในประเทศ และเงื่อนไขการอุดหนุนส่งออกซึ่งเป็นการอุดหนุนที่ต้องห้าม
4. กำหนดสิทธิและประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมมีการทำวิจัยและพัฒนา เช่น ให้คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมนำเข้ามา เพื่อใช้ในการทดสอบ วิจัยและพัฒนาตามที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบสามปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
5. เพิ่มสิทธิและประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น
5.1 คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักค่าใช้จ่ายไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้เสียไปในการประกอบกิจการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
5.2 คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับการส่งเสริมหักเงินที่ใช้ไปในการลงทุนในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละเก้าสิบของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น
5.3 ขยายเวลาการจ่ายเงินปันผล เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับเงินปันผลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในกรณีผู้ได้รับการส่งเสริมไม่อาจจ่ายเงินปันผลได้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยขยายเวลาการจ่ายเงินปันผลไปอีกหกเดือน ภายหลังสิ้นสุดการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2558--