ยธ. เสนอว่า
1. โดยที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยหลักพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ. 1985 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2440 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรมในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ขึ้น
2. เนื่องจากพระราชบัญญัตินี้ได้มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลาพอสมควร แต่ประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญายังคงใช้สิทธิขอรับค่าตอบแทนไม่มากเท่าที่ควร เพราะไม่ทราบถึงสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมจึงมีนโยบายดำเนินงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้พนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายในคดีอาญา ทราบว่ามีสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้ ทำให้สถิติการยื่นคำขอรับค่าตอบแทนของผู้เสียหายในคดีอาญามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กล่าวได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้สิทธิในการได้รับการเยียวยาจากรัฐ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม สามารถเข้าถึงสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม และสนับสนุนให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ลดความเหลื่อมล้ำจึงจำเป็นต้องกำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายทราบถึงสิทธิตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 เพื่อให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งผู้เสียหายหรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายให้ทราบถึงสิทธิการขอรับค่าตอบแทน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2558--