คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ศ. .... ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. .... และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ..... รวม 4 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่าง
1. ร่างพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....
1.1 จัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล ควบคุม ส่งเสริมและพัฒนาการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล และเสนอแนะนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบินพลเรือนและการขนส่งทางอากาศต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน
1.2 ให้มีคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคมและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินห้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
1.3 ให้มีผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหา มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีทำหน้าที่ในการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และตามกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ นโยบายและมติของคณะกรรมการ
1.4 ให้สำนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลการบินพลเรือนและควบคุมกิจการการบินพลเรือน โดยมีอำนาจในการออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเกี่ยวกับการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์ และกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติในเรื่องทั้งปวงที่เกี่ยวกับการบินพลเรือนด้วย
1.5 ให้สำนักงานมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนจากผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่สำนักงานกำหนดโดยได้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการการบินพลเรือน
1.6 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลสำนักงานให้ดำเนินการตามกฎหมาย นโยบายและแผนซึ่งคณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ รวมทั้งมีอำนาจสั่งยับยั้งการกระทำของสำนักงานหรือผู้อำนวยการที่เห็นว่าขัดต่อนโยบายหรือแผนดังกล่าว
1.7 ให้คณะกรรมการการบินพลเรือนมีอำนาจกำกับการดำเนินงานของสำนักงานและผู้อำนวยการให้ดำเนินงานให้ทันต่อเหตุการณ์ ถูกต้อง และครบถ้วน ตามกฎหมายและตามอนุสัญญา
1.8 ให้สำนักงานวางและถือไว้ซึ่งระบบบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการและเป็นไปตามหลักสากล และจัดให้มีการตรวจสอบภายในโดยผู้ตรวจสอบภายในเป็นประจำ และรายงานผลการตรวจสอบโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
1.9 ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบ เป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานทุกรอบปี
1.10 ให้สำนักงานจัดทำรายงานการดำเนินงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน
1.11 กำหนดบทเฉพาะกาลให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้มีความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกำหนดนี้และให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการของกองมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน กองมาตรฐานสนามบิน สำนักกำกับกิจการขนส่งทางอากาศ สำนักมาตรฐานการบิน ยกเว้นที่เกี่ยวกับงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยาน และงานนิรภัยการบินและสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุและสำนักส่งเสริมและพัฒนากิจการขนส่งทางอากาศ มาปฏิบัติงานที่สำนักงานเป็นการชั่วคราว
1.12 ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการของกรมการบินพลเรือนที่ประสงค์จะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ให้แสดงความจำนงเป็นหนังสือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้บังคับใช้ และให้ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เมื่อได้ผ่านการคัดเลือกหรือประเมินจากผู้อำนวยการแล้ว
2. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ศ. ....
2.1 เพิ่มบทนิยามคำว่า “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” และ “ผู้อำนวยการ”
2.2 แก้ไขบทนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” และ “อธิบดี”
2.3 กำหนดให้ส่วนราชการที่ประสงค์จะใช้สนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตของส่วนราชการเพื่อบริการสาธารณะ จะต้องดำเนินการภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ด้วย
2.4 ตัดอำนาจของรัฐมนตรีในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกโดยกำหนดให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการ
2.5 ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่ในการออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งตามพระราชกำหนดนี้
2.6 เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการการบินพลเรือนในการให้ความเห็นชอบข้อบังคับที่ออกโดยผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และอัตราค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือน รวมทั้งให้อำนาจในการเรียกผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พนักงานหรือบุคคลใดในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือสั่งให้ดำเนินการ หรือระงับการดำเนินการใด ๆ ที่เห็นว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศหรือต่อการบินพลเรือนได้
2.7 ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการเทคนิค เนื่องจากผู้แทนกรมการบินพลเรือนได้ยืนยันในทางนโยบายว่า ได้ยกเลิกคณะกรรมการเทคนิค รวมทั้งให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเทคนิคไปเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
2.8 ตัดเรื่องการให้กรมการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการการบินพลเรือนออก เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
2.9 แก้ไขเพิ่มเติมให้การพิจารณาประเด็นทางเทคนิค เป็นดุลพินิจของผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เนื่องจากยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการเทคนิคแล้ว
2.10 ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นการขอใบรับรองสำหรับสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตที่ดำเนินการโดยกรมการบินพลเรือนหรือส่วนราชการใด ๆ ที่เปิดให้บริการแก่สาธารณะ ออก เพื่อให้สนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตดังกล่าว ที่เปิดให้บริการแก่สาธารณะ ต้องดำเนินการขอใบรับรอง และดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
2.11 ลดขั้นตอนการสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดแก่สาธารณะในสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต โดยการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้ทันที
2.12 ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยทำหน้าที่แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเกี่ยวกับข้อมูลอุบัติเหตุของอากาศยานใดในราชอาณาจักรหรือของอากาศยานไทยในต่างประเทศ เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลแล้ว
2.13 ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพิทักษ์อากาศยานที่เกิดอุบัติเหตุ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับอุบัติเหตุของอากาศยาน
2.14 แก้ไขคำว่า “กฎกระทรวง” เป็นคำว่า “ข้อบังคับ” และ “ข้อกำหนด”
2.15 แก้ไขคำว่า “ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน” เป็นคำว่า “ข้อบังคับ” และ “ข้อกำหนด”
2.16 แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรี” “ปลัดกระทรวงคมนาคม” “อธิบดี” “คณะกรรมการการบินพลเรือน” “คณะกรรมการเทคนิค” เป็นคำว่า “ผู้อำนวยการ”
2.17 แก้ไขคำว่า “กรมการบินพลเรือน” เป็น “กรมท่าอากาศยาน” และ “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย”
2.18 ให้บรรดากฎกระทรวง ข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ มีผลใช้บังคับต่อไป
2.19 ให้บรรดาใบอนุญาต ใบรับรอง ใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หนังสือรับรอง การอนุญาต การดำเนินการใด ๆ หรือเงื่อนไขที่กำหนดโดยชอบตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้เป็นใบอนุญาต ใบรับรองใบสำคัญ หนังสืออนุญาต หนังสือรับรอง การอนุญาต การดำเนินการใด ๆ หรือเงื่อนไขที่ออกโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้
2.20 ให้สนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตที่ให้บริการแก่สาธารณะซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ยังคงดำเนินการได้ต่อไป โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีความปลอดภัยหรือไม่
3. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม พ.ศ. .... จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย ดังนี้
กรมการบินพลเรือน (โครงสร้างปัจจุบัน)
อำนาจหน้าที่
1. ส่งเสริมพัฒนาและกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศให้มีความปลอดภัยและมีระเบียบ
2. พัฒนาโครงข่ายและบริการขนส่งทางอากาศที่ปลอดภัยสม่ำเสมอมีประสิทธิภาพ และถูกหลักเศรษฐกิจ
ส่วนราชการ / หน่วยงานภายใน
ส่วนราชการกรมการบินพลเรือน มีดังต่อไปนี้
(1) สำนักบริหารกลาง
(2) กองมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน
(3) กองมาตรฐานสนามบิน
(4) ท่าอากาศยาน
(5) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
(6) สำนักกฎหมาย
(7) สำนักกำกับกิจการขนส่งทางอากาศ
(8) สำนักพัฒนาท่าอากาศยาน
(9) สำนักมาตรฐานการบิน
(10) สำนักส่งเสริมและพัฒนากิจการขนส่งทางอากาศ
กรมท่าอากาศยาน (โครงสร้างใหม่)
อำนาจหน้าที่
1. ส่งเสริมพัฒนาโครงข่ายส่งเสริมกิจการท่าอากาศยานและท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยมีประสิทธิภาพ
2. ศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการมีสนามบินแห่งใหม่การก่อสร้างสนามบิน และการดำเนินการ
ส่วนราชการ / หน่วยงานภายใน
ส่วนราชการกรมท่าอากาศยาน มีดังต่อไปนี้
(1) สำนักงานเลขานุการ
(2) กองก่อสร้างและบำรุงรักษา
(3) กองกฎหมาย
(4) กองคลัง
(5) กองส่งเสริมกิจการท่าอากาศยาน
(6) ท่าอากาศ ตามจำนวนท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแล
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (โครงสร้างใหม่)
อำนาจหน้าที่
1. กำกับดูแลการบินพลเรือนและควบคุมกิจการการบินพลเรือน โดยมีอำนาจในการออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเกี่ยวกับการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นปัจจุบันและทันต่อเหตุการณ์
2. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมกำกับการบินพลเรือนจากผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนราชการ / หน่วยงานภายใน
หน่วยงานภายในสำนักงานฯ มีดังต่อไปนี้
(1) กองมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน
(2) กองมาตรฐานสนามบิน
(3) สำนักกำกับกิจการขนส่งทางอากาศ
(4) สำนักมาตรฐานการบิน (ยกเว้นที่เกี่ยวกับงานค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและงานนิรภัยการบินและสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุให้ไปเป็นของ ปภ.มท.)
(5) สำนักส่งเสริมและพัฒนา กิจการขนส่งทางอากาศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2558--