นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์

ข่าวการเมือง Tuesday September 22, 2015 18:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป

2. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ให้เป็นรูปธรรม และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานการพัฒนาในแต่ละคลัสเตอร์

สาระสำคัญของเรื่อง

สกท. รายงานว่า

1. นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการดำเนินนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนสำหรับธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นบริเวณชายแดนหรือประเทศเพื่อนบ้าน และธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และ (2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะอยู่บริเวณพื้นที่ตอนใน สำหรับธุรกิจที่ไม่เหมาะสมกับชายแดน เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้แรงงานน้อย และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ขนพ.) และรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบหมายให้ สกท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรทมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ อก. จัดทำข้อเสนอนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยเน้นคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

2. การพัฒนาคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพในระยะแรก ประกอบด้วย คลัสเตอร์สิ่งทอ คลัสเตอร์ไอที คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์คลัสเตอร์แปรรูปอาหาร และคลัสเตอร์แปรรูปยางพารา (ไม่รวมไม้ย่าง)

3. วัตถุประสงค์ของการพัฒนาคลัสเตอร์ มีดังนี้

3.1 เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

3.2 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่า ทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่

3.3 เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs

4. การกำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรก ได้แก่

4.1 Super Cluster เป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคลัสเตอร์ดิจิทัล

4.2 คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูปและคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

4.3 กิจการเป้าหมายที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษ ในแต่ละคลัสเตอร์ ประกอบด้วย 2 กลุ่มที่สำคัญ ดังนี้

(1) โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคลัสเตอร์ ได้แก่ กิจการฐานความรู้ และกิจการโลจิสติกส์

(2) กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตที่มีความสำคัญสูง ได้แก่ กิจการต้นน้ำที่สำคัญของแต่ละคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่จะส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

5. ในการดำเนินนโยบายคลัสเตอร์ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งช่วยยกระดับคลัสเตอร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ การพัฒนาคนและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการสนับสนุนเงินทุน

6. ในส่วนของสิทธิประโยชน์สำหรับคลัสเตอร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) สิทธิประโยชน์สำหรับ Super Cluster รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล (2) สิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มคลัสเตอร์อื่น ๆ และ (3) สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ ดังนี้

1) สิทธิประโยชน์สำหรับ Super Cluster และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี
  • สำหรับกิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง กระทรวงการคลัง (กค.) จะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 – 15 ปี
  • ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ
  • จะพิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวร (Permanent Residence) สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ
  • อนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมได้

2) สิทธิประโยชน์สำหรับคลัสเตอร์อื่น ๆ ได้แก่

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 – 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี
  • ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
  • จะพิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวร(Permanent Residence) สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติ
  • อนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมได้

3) สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์

>>กิจการฐานความรู้

กิจการวิจัยและพัฒนา

กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ

กิจการออกแบบทางวิศวกรรม

กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

กิจการบริการสอบเทียบมาตรฐาน

กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ

สิทธิประโยชน์

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี

>>กิจการโลจิสติกส์

กิจการสนามบินพาณิชย์

กิจการขนส่งทางราง

กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า

กิจการ Inland Container Depot (ICD)

กิจการ International Distribution Center (IDC)

สิทธิประโยชน์

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ใน 3 กลุ่มดังกล่าว มีเงื่อนไขบังคับทุกโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์จะต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือ Center of Excellence ที่มีอยู่ในคลัสเตอร์รวมทั้งต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปี 2559 และต้องเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 และในการขับเคลื่อนนโยบายคลัสเตอร์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์เป้าหมาย และช่วยยกระดับคลัสเตอร์ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กันยายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ