สถานการณ์น้ำและโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2015 17:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59

2. เห็นชอบในหลักการโครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 โดยให้ กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนงาน / โครงการ / กิจกรรม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือต่อไป

โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 มีสาระสำคัญ ดังนี้

วัตถุประสงค์

1) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง

2) ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน

เป้าหมาย

1) พื้นที่วิกฤตภัยแล้ง (พื้นที่ที่หากมีการใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผน จะเกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำของภาคส่วนอื่น) คือ พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลกพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการสมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ มีเกษตรกรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 330,000 ครัวเรือน

2) พื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด

ระยะเวลาดำเนินโครงการ ซึ่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 เมษายน 2559 มี 8 มาตรการ 45 โครงการ ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

1.1 โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งด้านการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย

1) โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง

2) โครงการสร้างรายได้จากปศุสัตว์ในฤดูแล้ง

3) โครงการสร้างรายได้จากประมงในฤดูแล้ง

4) โครงการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ทั้งนี้ หากผลกระทบของปัญหาวิกฤตภัยแล้งขยายตัวเพิ่มขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะพิจารณาขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกร

1.2 ลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม โดยกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย

1) โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในเขตพื้นที่ประสบภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2559

2) โครงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน Farm Outlet

3) โครงการเชื่อมโยงตลาดและจัดหาตลาดรองรับผลิตผลทางการเกษตร/ผลิตภัณฑ์ชุมชนของเกษตรกร

2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน

2.1 การลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดิน จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในเขตปฏิรูปที่ดินฯ (ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าซื้อที่ดิน และเงินกู้) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.2 การให้สินเชื่อ

1) สินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท ชำระไม่เกิน 10 ปี กรณีพิเศษไม่เกิน 12 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ย MRR-2% (MRR = 7%) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2) สินเชื่อเพื่อสร้างงานในชุมชน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ย MRR-2 กำหนดชำระคืนในเวลาไม่เกิน 5 ปี ใช้เมนูทางเลือกอาชีพของกระทรวงแรงงาน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

3) สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน ให้สินเชื่อแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และชำระหนี้สิน วงเงินไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย โดยธนาคารออมสิน

4) สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้สามารถมีเงินทุนในการประกอบอาชีพ

5) สินเชื่อองค์กรชุมชน สนับสนุนเงินทุนให้กับกลุ่มองค์กรชุมชนและกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้สามารถมีเงินทุนในการประกอบอาชีพผ่านกลุ่ม

6) สินเชื่อ SMEs สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้สามารถมีเงินทุนในการประกอบอาชีพ

2.3 การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์

1) การช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ให้สินเชื่อ และลดภาระดอกเบี้ย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปลอดดอกเบี้ย ให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร 6 เดือน รัฐชดเชยดอกเบี้ยแทนสมาชิกในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
  • ให้สินเชื่อเพิ่มแก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร รายละไม่เกิน 30,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน รัฐชดเชยดอกเบี้ยแทนสมาชิกในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
  • กองทุนพัฒนาสหกรณ์สนับสนุนเงินกู้ให้สหกรณ์ 300 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน

2.4 การขยายระยะเวลาชำระหนี้

1) โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิม ไม่เกิน 24 เดือน ให้แก่เกษตรกร ลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 วงเงินสินเชื่อที่รับขยายระยะเวลา 60,000 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรร้อยละ 1.5 ต่อปี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2) การบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าธนาคารออมสิน สำหรับลูกหนี้ปกติ ที่มีประวัติดีไม่มีหนี้ค้างชำระ โดยพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 2 ปี โดยธนาคารออมสิน ใช้งบประมาณ ปี พ.ศ. 2559

3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

3.1 การจ้างงานภายใต้โครงการของกรมชลประทาน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย

1) โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2558

2) งานจัดการน้ำชลประทาน

3) งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ/ก่อสร้างแหล่งน้ำพร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่หมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดน

4) โครงการตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล

3.2 การจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ

1) โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ โดยกระทรวงแรงงาน

2) โครงการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยกระทรวงมหาดไทย

4. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

การจัดทำแผนชุมชน โครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิฤกตภัยแล้งปี 2558/59 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการช่วยเหลือต่อไป

5. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด

1) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์น้ำของประเทศและร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า โดยสำนักนายกรัฐมนตรี (กรมประชาสัมพันธ์)

2) การสื่อสารสู่เกษตรกร เพื่อจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

3) โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ (นาปรัง) ฤดูกาลผลิต 2558/59 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

6.1 การปฏิบัติการฝนหลวง ประกอบด้วย

1) โครงการปฏิบัติการฝนหลวงและบริการด้านการบิน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2) โครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยกระทรวงกลาโหมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

6.2 การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จัดทำโครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองทางด้านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงาน

6.3 การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง

2) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

3) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ

4) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน

6.4 การสนับสนุนน้ำในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย

1) การจัดหาน้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่เป้าหมาย

2) การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล

3) โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน

7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

7.1 การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชน ผู้ประสบภาวะภัยแล้ง จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยอันเกิดจากโรคที่เกิดจากภัยแล้ง จัดหาภาชนะสำรองกักเก็บน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องความสะอาดและอาหาร รวมทั้งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย โดยกระทรวงสาธารณสุข

7.2 การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

8. มาตรการสนับสนุนอื่นๆ ประกอบด้วย

1) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 โดยกระทรวงมหาดไทย

2) แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้วิสาหกิจชุมชน โดยชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และหากเป็นการลงทุน มีระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

3) การบริการข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำผ่านศูนย์กลางแอฟพลิเคชั่น โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4) การกำหนดแนวทางการจัดสรรน้ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลยืนต้นที่ขาดแคลนน้ำภาคตะวันออก โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5) ระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

6) การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตร โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ