1. เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2558 – 2561 รวม 6 ด้าน และให้มีการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (ด้านที่ 20) โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
2. เห็นชอบให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายในการออกกฎหมาย ติดตาม ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย และเสนอแนะเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเลิกกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี
3. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 – 2562 และมอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนและงบประมาณบูรณาการ ติดตามและประเมินผล รวมทั้งรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. นโยบายเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฯ
จากการศึกษา วิเคราะห์และทบทวนสภาพปัญหาอุปสรรคของงานกระบวนการยุติธรรม และผลสำรวจความต้องการของประชาชน เพื่อประเมินแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติฯ รวมทั้งรายงานการสำรวจข้อมูลของสำนักงานกิจการยุติธรรมที่ได้จากการประชุมและการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นำไปสู่การกำหนดนโยบายเร่งด่วนฯ และแนวทางการดำเนินงานจำนวน 6 เรื่อง ดังนี้
นโยบายเร่งด่วนที่ 1 การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน
นโยบายเร่งด่วนที่ 2 มาตรการในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
นโยบายเร่งด่วนที่ 3 พัฒนาระบบการบริการของหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว
นโยบายเร่งด่วนที่ 4 พัฒนาระบบแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดและการช่วยเหลือดูแลผู้พ้นโทษ
นโยบายเร่งด่วนที่ 5 พัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้มีประสิทธิภาพ
นโยบายเร่งด่วนที่ 6 การพัฒนาระบบการป้องกันอาชญากรรมให้มีประสิทธิภาพ
2. ร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2559 – 2562 เป็นการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมที่ต่อเนื่องจากแผนแม่บทเดิม ประกอบด้วย เค้าโครงเนื้อหา วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์แนวทางดำเนินงานและโครงการหลักที่สำคัญ ดังนี้
1) เค้าโครงเนื้อหา
บทที่ 1 ทบทวนแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา
บทที่ 2 การประเมินศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
บทที่ 3 นโยบายทิศทางและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
บทที่ 4 สถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงและส่งผ่านข้อมูลกระบวนการยุติธรรม
บทที่ 5 เป้าประสงค์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
บทที่ 6 โครงการหลักที่สำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2559 – 2562
2) วิสัยทัศน์ “การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมรวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใสและเป็นธรรม”
3) พันธกิจ เพื่อให้การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีพันธกิจที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
- พัฒนาและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของสังคมไทยและสากล
- พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของรากฐานการดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
- พัฒนาการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
4) เป้าหมายหลัก ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติในระยะสี่ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559 – 2562) ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้
เป้าหมายที่ 1 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้น ทั้งด้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สนับสนุน ด้านระบบเครือข่าย ด้านระบบฐานข้อมูล และด้านบุคลากร โดยมีคะแนนระดับความพร้อมไม่ต่ำกว่า 3.5 ตามเกณฑ์มาตรฐานของการประเมิน
เป้าหมายที่ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม สามารถดำเนินการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือส่งผ่านระบบข้อมูลระหว่างกันได้แบบอัตโนมัติตามมาตรฐานสากล (Web Service)
เป้าหมายที่ 3 ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย เสียค่าใช้จ่ายน้อย มีความเชื่อมั่นและยอมรับประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
5) ยุทธศาสตร์และแนวทางดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับคุณภาพความพร้อมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนวัตกรรมกระบวนการยุติธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนากฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
6) กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานและการติดตามประเมินผล
- ให้มีกลไกรับผิดชอบในระดับนโยบาย
- จัดให้มีคณะที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- เปิดโอกาสให้องค์กรหรือสถาบันการศึกษาที่เป็นกลาง เข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการประเมินศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2558--