1. เห็นชอบต่อร่างความร่วมมือทวิภาคี Joint Crediting Mechanism (JCM) ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ลงนามความร่วมมือฝ่ายไทย
2. เห็นชอบต่อร่างองค์ประกอบคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ฝ่ายไทย
3. เห็นชอบให้จัดตั้งสำนักเลขาธิการกลไก JCM (Thailand JCM Secretariat) เพื่อดำเนินงานดังกล่าวต่อไป โดยมอบหมายให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการกลไก JCM
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ร่างความร่วมมือทวิภาคี JCM ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้วระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ โดยทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดตั้งกลไก JCM เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในประเทศไทยและดำเนินงานกลไกให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบในประเทศที่เกี่ยวข้อง
2. ในการดำเนินงานกลไก JCM นั้น ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ประกอบด้วยผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายเพื่อทำหน้าที่พัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทาง ระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก ข้อจำกัดแต่งตั้งผู้ประเมินภายนอกและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและการบริหารงานกลไก JCM โดยคณะกรรมการร่วมจะจัดการประชุมเป็นประจำเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของกลไก JCM นอกจากนี้ร่างความร่วมมือทวิภาคี JCM ระบุให้ปันส่วนปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากโครงการภายใต้กลไก JCM ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งพัฒนาระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความน่าเชื่อถือปฏิบัติได้จริง และป้องกันการออกคาร์บอนเครดิตซ้ำซ้อน ตลอดจนสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และเสริมสร้างศักยภาพแก่ฝ่ายไทย ร่างความร่วมมือทวิภาคี JCM ดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดหน้าที่ระหว่างประเทศใด ๆ และจะสิ้นสุดลงเมื่อข้อตกลงระหว่างประเทศใหม่ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2558--