จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. มอบให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มีนาคม 2558 เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นในการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งการคำนึงถึงความเป็นธรรมในการชดเชยและเยียวยาแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย
คค. เสนอว่า
1. โดยที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2555 เพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 มีกำหนด 4 ปี
2. ในการดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1 ได้ดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว มีที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งหมดจำนวน 660 แปลง (เป็นที่ดินของเอกชน จำนวน 529 แปลง ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 30 แปลง ที่ดินของกระทรวงการคลัง จำนวน 1 แปลง) โดยเจ้าของที่ดินได้มาตกลงทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่าทดแทนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แล้ว จำนวน 560 แปลง แต่ยังมีเจ้าของที่ดินอีกจำนวน 100 แปลง ไม่มาตกลงทำสัญญาซื้อขายกับ กทพ. เนื่องจากมีข้อขัดข้อง เช่น ที่ดินติดภาระจำยอม ล้มละลาย ซึ่ง กทพ. ได้ดำเนินการวางเงินค่าทดแทนและเข้าครอบครอง ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน ฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ดังนั้น เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 100 แปลงดังกล่าวตกเป็นของ กทพ. สมควรตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ภายในแนวเขตตามแผนที่และบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของ กทพ. โดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2558--