ร่างพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Wednesday October 21, 2015 07:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507

2. กำหนดบทนิยามคำว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ” นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ

3. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

4. กำหนดให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภารองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 3 คน เป็นสมาชิกและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นสมาชิกและเลขานุการ

5. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิและวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี

6. กำหนดให้ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยความเห็นชอบของที่ประชุม มีอำนาจเชิญผู้แทนหน่วยงานและบุคคลใดมาร่วมการประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือให้มาชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และสามารถเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้

7. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้แก่ พิจารณา เสนอแนะ และให้ความเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง พิจารณาและกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและให้ความเห็นแก่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีรวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นต้น

8. กำหนดให้มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและมีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ ศึกษา วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ พิสูจน์ทราบและคาดการณ์ภัยคุกคามทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การประเมินกำลังอำนาจของชาติ เพื่อเสนอแนะนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาโครงการหรือแผนงานเรื่องสำคัญของหน่วยงานของรัฐต่อสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นต้น และกำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติมีอำนาจในการเชิญข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำอันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ และสามารถเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้

9. กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีแล้วเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติในการกำหนดแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้มีแผนงานและโครงการรองรับ ทั้งนี้ ให้ สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ

10. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเสนอโครงการหรือแผนงานเรื่องสำคัญต่อสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีกำหนดซึ่งดำเนินการภายใต้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ แผนงาน หรือมาตรการตามภารกิจหน้าที่ สำหรับประกอบการพิจารณากำหนดงบประมาณรายจ่ายในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

11. กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับโครงการหรือแผนงานด้านความมั่นคงเรื่องสำคัญ ซึ่งดำเนินการภายใต้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และพิจารณาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงการดำเนินการที่เหมาะสม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ