และธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ เพื่อการสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิก
ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency : IRENA)
ของประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบในการแสดงเจตนาผูกพันตามธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศต่อไป ภายหลังจากที่ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศได้มีหนังสือยืนยันว่าประเทศไทยได้รับสมาชิกภาพในการเข้าเป็นสมาชิกแล้วตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดให้ยอมรับนับถือว่าทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
1.2 กำหนดให้ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ สถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ และบรรณสารของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลอื่นที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หรือในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามที่ระบุไว้ในความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเพียงเท่าที่รัฐบาลได้รับและใช้บทแห่งความตกลงนั้นหรือความตกลงที่รัฐบาลจะได้ทำต่อไปกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ
2. ธรรมนูญของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ
2.1 วัตถุประสงค์การจัดตั้งทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ
1) เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนระหว่างประเทศ โดยมีกิจกรรมความร่วมมือที่เน้นบทบาทการเป็นศูนย์ข้อมูลการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ และการวิจัยและพัฒนา
2) ให้คำแนะนำและคำปรึกษาอย่างเป็นรูปธรรมต่อประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวนโยบาย
3) ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่เหมาะสมในการเลือกใช้กลไกในการจัดหาแหล่งทุน และการปรับใช้มาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเทคโนโลยีนั้น ๆ มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
4) เผยแพร่การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนและให้การสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมด้านพลังงานหมุนเวียนในระดับโลก
2.2 ขอบเขตของการดำเนินกิจกรรม
1) การปรับปรุงองค์ความรู้ทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติงานด้านพลังงานหมุนเวียน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมงานวิจัยทางด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมและการให้การศึกษาทางด้านพลังงานหมุนเวียนแก่ประเทศสมาชิก
2) การให้คำแนะนำด้านนโยบายและคำแนะนำด้านการเงินเพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนแก่ประเทศสมาชิก
3) การส่งเสริมให้มีการปรึกษาหารือระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกและองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมให้มีการหารือเกี่ยวกับนโยบายพลังงานหมุนเวียนในระดับนานาชาติ
2.3 การเป็นสมาชิกภาพมี 2 ประเภท คือ
1) สมาชิกเริ่มแรกของทบวงการ โดยการลงนามในธรรมนูญฉบับนี้ และได้มอบสัตยาบันสาร
2) สมาชิกอื่นของทบวงการ โดยการมอบภาคยานุวัติสารภายหลังจากการสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้รับอนุมัติแล้ว จะถือว่าสมาชิกภาพได้รับการอนุมัติต่อเมื่อการสมัครได้ถูกส่งไปยังสมาชิก และมิได้คัดค้านภายใน 3 เดือน
2.4 โครงสร้างองค์กร มีดังนี้
1) สมัชชา เป็นองค์กรสูงสุดของทบวงการ ประกอบด้วยผู้แทนจากแต่ละสมาชิกจำนวนหนึ่งคน
2) คณะมนตรี ประกอบด้วย ผู้แทนที่มาจากสมาชิกทบวงการที่ได้รับการเลือกตั้งโดยสมัชชาอย่างน้อย 11 คน แต่ไม่เกินกว่า 21 คน จำนวนผู้แทนถาวรอยู่ในระหว่าง 11 และ 21 คน ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทบวงการโดยคำนวณบนพื้นฐานของจำนวนสมาชิกของทบวงการในช่วงเริ่มต้นของการเลือกตั้งสมาชิกของคณะมนตรี สมาชิกของคณะมนตรีจะได้รับการเลือกตั้งโดยการหมุนเวียนตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของการประชุมสมัชชาเพื่อให้เชื่อมั่นว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงโดยสมาชิกของคณะมนตรีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี
3) สำนักเลขาธิการ ประกอบด้วยผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่อื่นตามที่จำเป็น ผู้อำนวยการใหญ่จะได้รับแต่งตั้งโดยสมัชชาตามข้อเสนอของคณะมนตรี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และสามารถขยายได้อีกหนึ่งครั้งเท่านั้น
2.5 งบประมาณ มาจาก 3 ส่วน ดังนี้
1) เงินสนับสนุนภาคบังคับของสมาชิกโดยใช้พื้นฐานการกำหนดอัตราส่วนขององค์การสหประชาชาติตามที่กำหนดโดยสมัชชา
2) เงินสนับสนุนโดยความสมัครใจ และ
3) เงินจากแหล่งอื่น ๆ
2.6 สภาพนิติบุคคล เอกสิทธิ์ และความคุ้มกัน ทบวงการมีสภาพเป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศ และมีความสามารถทางกฎหมายในดินแดนของสมาชิกแต่ละประเทศเท่าที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่และเพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งประสงค์ของทบวงการตามที่กฎหมายของสมาชิกบัญญัติไว้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2558--