แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน

ข่าวการเมือง Tuesday October 27, 2015 18:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เสนอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และอำเภอ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) การมีส่วนร่วมของทุกภาค ส่วนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ให้มากที่สุด ดังนี้

1. ชื่อในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ใช้ชื่อว่า “สุขกายสุขใจขับขี่ปลอดภัยรับปีใหม่ 2559”

2. เป้าหมายการดำเนินงาน

2.1 เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559

2.2 สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บบาดเจ็บ (admit) ลดลงให้เหลือน้อยที่สุดโดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน ด้วยตนเอง

3. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านการบริหารจัดการ มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย มาตรการด้านยานพาหนะที่ปลอดภัย มาตรการด้าน ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยและมาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ

4. มาตรการเน้นหนัก ประกอบด้วย

4.1 มาตรการป้องกัน ได้แก่

4.1.1 มาตรการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งและ ลดพฤติกรรมเสี่ยงความคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทาง ป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเคร่งครัดและต่อเนื่อง ดังนี้

(1) กฎหมายจราจรให้บังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. (10 รสขม.) ได้แก่

1. ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด

2. ขับรถยนต์ย้อนศร

3. ฝ่าฝืนสัญญาณกฎหมาย

4. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

5. ไม่มีใบขับขี่

6. แซงในที่คับขัน

7. เมาสุรา

8. ไม่สวมหมวกนิรภัย

9. มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย

10. ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของอย่างอื่น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเมาสุราหรือเมาของอย่างอื่น และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก โดยให้เน้นหนักกับรถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะ รถรับจ้างไม่ประจำทางและรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายตลอดจนงวดกวดขันในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่

(2) กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายสุรา และกฎหมายสถานบริการ โดยให้เน้นหนักในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีและให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาตามกฎหมายกำหนด รวมทั้งเข้มงวดกวดขันให้สถานบริการต่างๆ เปิดปิด ตามเวลาที่กำหนดที่กฎหมายกำหนด

(3) กฎหมายทางหลวง ให้เข้มงวดกวดขันการใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดและการติดตั้งแขวนวางหรือกองสิ่งใด ๆ ในเขตทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะรวมทั้งการขายสิ่งของและจอดรถบริเวณบนไหล่ทาง

(4) กฎหมายขนส่งทางบก ให้เข้มงวดกวดขันพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมาในขณะขับรถ และตรวจสอบสภาพรถให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีอุปกรณ์ความปลอดภัย และส่วนควบถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

(5) กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่หมู่บ้าน และตำบล โดยใช้มาตรการทางสังคมและชุมชน เพื่อควบคุม กำกับ และป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

(6) กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

4.1.2 มาตรการด้านสังคมและชุมชน

(1) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครจัดตั้ง “ด่านชุมชน” โดยบูรณาการร่วมกับอำเภอ สำนักงานเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน และอาสาสมัครต่าง ๆ เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยงและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่ อาทิ เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดและไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น โดยใช้มาตรการทางสังคมในการควบคุม ป้องปราม และตักเตือนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ ให้พิจารณาจัดตั้งด่านชุมชนตามความเหมาะสมของพื้นที่ และให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

(2) ให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เพื่อดึงประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมและลดความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนของคนในพื้นที่

4.1.3 มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์

(1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่จะดำเนินการในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ผ่านสื่อทุกชนิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย

(2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่ เช่น ข้อมูลผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ผ่านสื่อทุกชนิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความตระหนักและปลูกจิตสำนึก ค่านิยม วัฒนธรรมความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

4.1.4 มาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ให้จังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และกรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณาหามาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นพิเศษตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559

4.1.5 มาตรการการสัญจรทางน้ำ

(1) ให้จังหวัดที่มีพื้นที่เส้นทางสัญจรหรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำและกรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อพิจารณาจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางน้ำในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยให้กวดขัน ตักเตือน และควบคุมดูแลผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือ

(2) ให้พิจารณามอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเรียบร้อย สังเกต ระวังเหตุ และประชาสัมพันธ์ให้บริการข้อมูลการเดินทางตามท่าเทียบเรือสาธารณะหรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญ

4.2 มาตรการแก้ไขปัญหา ได้แก่

4.2.1 การแก้ไขปัญหาจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ โดยให้จังหวัด และกรุงเทพมหานครประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และให้พิจารณาจัดตั้ง จุดตรวจในบริเวณจุดเสี่ยง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ ให้พิจารณาจัดตั้งตามความเหมาะสมของพื้นที่ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน

4.2.2 การแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ให้จังหวัดที่มีทางรถไฟผ่านในพื้นที่และกรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาในบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ให้มีความปลอดภัยในการสัญจร อาทิ จัดทำป้ายเตือนเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นชัดเจน จัดทำคลื่นระนาดบนผิวถนนเพื่อชะลอความเร็วของรถ และติดตั้งสัญญาณไฟหรือสัญญาณเสียงเพื่อให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รวมทั้งให้จัดอาสาสมัครประจำบริเวณจุดตัดทางรถไฟเพื่อดูแลความปลอดภัยและแนะนำผู้ใช้เส้นทางสัญจรผ่านในบริเวณดังกล่าว

4.2.3 การปรับสภาพสิ่งแวดล้อมอันตรายข้างทาง ให้ประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะเพื่อสนับสนุนนักศึกษาอาสาสมัคร รวมทั้งกรมคุมประพฤติในการจัดให้ผู้ถูกคุมประพฤติช่วยทำงานบริการสังคม โดยการทาสี ทำความสะอาดเครื่องหมายจราจร การตัด แผ้วถางต้นไม้ หรือสิ่งกีดขวางบริเวณข้างทาง เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นขณะขับขี่ยานพาหนะ

5. ช่วงเวลาดำเนินการ กำหนดเป็น 2 ช่วง ดังนี้

5.1 ช่วงเตรียมความพร้อมและช่วงการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2558

5.2 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2559

6. ตัวชี้วัด

6.1 สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ลดลงให้เหลือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558

6.2 สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558

6.3 สถิติจำนวนยานพาหนะที่ถูกเรียกถูกตรวจและถูกดำเนินคดีตามมาตรา 10 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558

6.4 สถิติจำนวนยานพาหนะที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 10 มาตรการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้แจ้งแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดเพื่อรับทราบและประสานการปฏิบัติแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ