ขออนุมัติให้ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน

ข่าวการเมือง Wednesday November 4, 2015 16:28 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติให้ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย

2. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งภาคีคู่สัญญาเพื่อให้หนังสือสัญญามีผลบังใช้ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. ประเทศไทยเป็นภาคีกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit: AFAFGIT) ซึ่งกรอบความตกลงดังกล่าวมีพิธีสาร (Protocol) แนบท้าย 9 ฉบับ ซึ่งมีพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย รวมอยู่ด้วย โดยประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 และภายหลังการลงนาม ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้สัตยาบันพิธีสารดังกล่าว เพื่อให้กรอบความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามครบทั้ง 10 ประเทศ ก่อนการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย แล้ว 8 ประเทศ ยกเว้นประเทศไทยและมาเลเซีย

2. คค. มีกำหนดการให้สัตยาบันพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2558 เพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC Blueprint) และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) ประกอบกับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันภาคผนวก 1 การขนส่งสินค้าอันตรายภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) แล้ว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558

3. สาระสำคัญของพิธีสาร 9 สินค้าอันตราย

3.1 พิธีสาร 9 สินค้าอันตราย เป็นส่วนเพิ่มเติมส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2541 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

3.2 หลักการและสาระสำคัญ

1) ห้ามผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนทำการขนส่งสินค้าอันตราย เว้นแต่ได้มีการออกใบอนุญาตเพื่อทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาคีคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกผ่านแดน

2) การขอรับใบอนุญาตดังกล่าว ให้ขอต่อคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติของภาคีคู่สัญญาฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

3) เมื่อได้รับคำขอดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติของภาคีคู่สัญญาฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสานกับคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติของภาคีคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกผ่านแดน

4) ใบอนุญาตใด ๆ ซึ่งไม่ได้ทำเป็นภาษาอังกฤษให้แนบคำแปลภาษาอังกฤษซึ่งรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5) ให้ภาคีคู่สัญญาปรับใช้บทบัญญัติของกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขนส่งวัตถุอันตรายขององค์การสหประชาชาติ และความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนนของคณะกรรมการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ (European Agreement Concerning the International Carriage of dangerous Goods by Road: ADR) โดยเฉพาะในเรื่องการแบ่งประเภทและหมวดของสินค้าอันตราย การบรรจุหีบห่อและฉลากสำหรับสินค้าอันตราย เครื่องหมายรถและวิธีบรรจุหีบห่อ เอกสารในการขนส่ง การฝึกอบรม การป้องกันเพลิงไหม้และ/หรือระเบิด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ