เรื่อง การลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้อยู่ในดุลยพินิจของ คค. โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยและให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้แทนสำหรับการลงนามดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกรอบความร่วมมือฯ มีดังนี้
1. รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเห็นชอบให้รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2565
2. ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่าความร่วมมือจะเป็นโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานสายแรกของประเทศไทย 2 เส้นทาง (โครงการรถไฟ) คือ
1. หนองคาย – โคราช – แก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด
2. แก่งคอย – กรุงเทพฯ โดยโครงการรถไฟจะดำเนินการเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – แก่งคอย ช่วงที่ 2 แก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 3 แก่งคอย – โคราช และช่วงที่ 4 โคราช – หนองคาย ภายใต้รูปแบบอีพีซี (วิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง) และให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (“เอสพีวี”) เพื่อลงทุนในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(1) ระบบรถไฟ รวมถึงการเดินรถและการซ่อมบำรุง
(2) ส่วนหนึ่งของงานการก่อสร้าง (รวมถึง แหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้า การจ่ายกำลังไฟฟ้า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และระบบอาณัติสัญญาณ)
ทั้งนี้ ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (รวมถึงการสำรวจและออกแบบ) ฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการขอความเห็นชอบ และการเวนคืนที่ดิน ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายจะร่วมหารือและทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับระบบรถไฟขนาดทางมาตรฐาน และก่อนการก่อสร้างโครงการ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาและปรับปรุง “รายงานการศึกษาทางเทคนิคและเศรษฐกิจ” ที่จัดทำโดยฝ่ายจีนจนกว่าจะเป็นที่พึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558--