การลงนามในร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความตกลงฯ

ข่าวการเมือง Tuesday November 17, 2015 16:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามในร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความตกลงฯ ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความตกลงฯ ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารฯ และหากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ผู้ลงนามเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้ลงนามร่างพิธีสารดังกล่าว

4. ภายหลังการลงนามแล้วให้นำเสนอสภานิติบัญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความตกลงฯ ระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนการให้สัตยาบันพิธีสารดังกล่าวต่อไป

5. มอบหมายกรมศุลกากรและกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ตามที่ระบุไว้ในร่างพิธีสารฯ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบ พิธีสารดังกล่าวแล้ว

6. มอบหมายให้ กต. ดำเนินการมอบสัตยาบันสารของพิธีสารฯ ดังกล่าวให้แก่เลขาธิการอาเซียนเพื่อรับทราบการให้สัตยาบันพิธีสารฯ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวแล้ว

สาระสำคัญของร่างพิธีสารฯ ครอบคลุมการปรับปรุงฯ ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุนและความร่วมมือเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย

1. ด้านการค้าสินค้า

(1) เพิ่มเติมข้อบทด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

(2) การปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้า โดยอาเซียนและจีนสามารถตกลงข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และสรุประเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ ทำให้ได้เกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เอกชนสามารถเลือกใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาคร้อยละ 40 (Regional Value Content: RVC) หรือกฎ Change of Traiff Classification (CTH) (มีการเปลี่ยนพิกัดสินค้าที่ระดับ 4 หลัก) กับสินค้าประมาณ 2,150 รายการ (ร้อยละ 41 ของจำนวนรายการสินค้า) และสินค้าอื่น ๆ สามารถเลือกใช้ระหว่างกฎ RVC 40% กับกฎเฉพาะรายสินค้าได้ พร้อมทั้งมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนและส่งเสริมการใช้สิทธิ์ของภาคเอกชน

2. ข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 3

3. การปรับปรุงความตกลงด้านการลงทุนอาเซียนและจีน สรุปผลการเจรจาใน 2 ประเด็นคือ

1) ข้อบทการส่งเสริมการลงทุน (Promotion)

2) ข้อบทการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Facilitation)

4. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

5. ประเด็นที่จะเจรจาต่อไปในอนาคต (Future Work Program) ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติม การเจรจากฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules) และการปรับปรุงความตกลงด้านการลงทุนในประเด็นการคุ้มครองและการเปิดเสรีด้านการลงทุน

6. พิธีสารฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤาภาคม 2559 เมื่อจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อยหนึ่งประเทศแจ้งต่อเลขาธิการอาเซียนว่าดำเนินกระบวนการภายในแล้วเสร็จเป็นลายลักษณ์อักษร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ