สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
2. กำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่ที่ได้จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกลางในการกำกับดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมโดยคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัด ทส. เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสิบสองคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสิบคน โดยมีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ
5. กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
6. กำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการมีอำนาจประกาศกำหนดให้หน่วยงานใดของกระทรวงหรือทบวงในราชการส่วนกลาง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และกำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมตามพระราชบัญญัตินี้
7. กำหนดหลักการควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในลักษณะที่ห้ามมิให้มีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใด ๆ สู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวจะได้ผ่านการใช้ในสภาพควบคุมและการใช้ในภาคสนามเพื่อทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ และได้มีการขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้แล้ว
8. ในกรณีผู้ได้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งได้กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้
9. กำหนดให้มีกระบวนการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ผู้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สิ้นสุด
10. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นผลมาจากการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้เสียหายนั้นเอง
11. กำหนดโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุกและโทษปรับมาใช้บังคับแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
12. กำหนดบทเฉพาะกาลให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือบุคคลใดที่ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้องขออนุญาต หรือต้องขอรับใบอนุญาต หรือต้องแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจกรรมนั้นต่อไป ให้มายื่นคำขอรับอนุญาตหรือคำขอรับใบอนุญาต หรือแจ้งต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558--