การเข้าร่วมรับรองและลงนามในปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests)

ข่าวการเมือง Tuesday November 24, 2015 18:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมตริเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมรับรองและลงนามในปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests)ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ในเดือนธันวาคม 2558 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการตามขั้นตอนการเข้าร่วมเป็นภาคีในปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests)ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

การประชุม Climate Summit 2014 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในที่ประชุมดังกล่าวประมุขและหัวหน้ารัฐบาล 130 ประเทศ ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 โดยหนึ่งในประเด็นที่ประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ให้ความสำคัญ คือ ผลกระทบจากภาคป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สาระสำคัญของปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests)

1. เป็นปฏิญญาที่ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (Non-Legally Binding Political Declaration)

2. กำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมลงนามปฏิญญาฯ ลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020)

3. กำหนดเป้าหมายระดับสูงเพื่อหยุดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030)

4. ส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพป่าไม้และพื้นที่เพาะปลูกให้ได้ขนาดพื้นที่ 350 ล้านเฮกเตอร์ (เทียบว่ามีขนาดใหญ่กว่าอินเดีย)

5. เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้กรอบการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า ( Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation : REDD+)

6. แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบรรเทาความยากจน หลักนิติธรรม ความมั่นคงทางอาหาร ความยืดหยุ่นด้านภูมิศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในกระบวนการตัดสินใจ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ