คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายปองพลอดิเรกสาร) เป็นประธานกรรมการฯ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณารวมร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดห้ามลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี) ที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการยิงด้วยปืนเป็นวิธีการฉีดสารพิษ) ที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ เป็นฉบับเดียวกันซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบด้วยแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
1. กำหนดมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี
2. กำหนดวิธีการประหารชีวิตใหม่โดยเปลี่ยนจากการเอาไปยิงเสียให้ตาย เป็นดำเนินการด้วยวิธีฉีดสารพิษให้ตายแทน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) วันที่ 11 ธ.ค. 44--จบ--
-สส-
สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
1. กำหนดมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี
2. กำหนดวิธีการประหารชีวิตใหม่โดยเปลี่ยนจากการเอาไปยิงเสียให้ตาย เป็นดำเนินการด้วยวิธีฉีดสารพิษให้ตายแทน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) วันที่ 11 ธ.ค. 44--จบ--
-สส-