การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ข่าวการเมือง Tuesday December 22, 2015 17:20 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. ....)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. ....) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ให้มี “คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย”โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายเพื่อให้เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการให้เงินสนับสนุนแก่กิจการที่ได้รับการอนุมัติ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ และกำหนดนโยบายและแนวทางในการสรรหาและเจรจา เป็นต้น โดยให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา และคณะอนุกรรมการอื่นตามที่เห็นสมควรเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

2. กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภทอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม 5 อุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมใหม่อีก 5 อุตสาหกรรม

3. กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายและดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

4. กำหนดให้เงินอุดหนุนสำหรับการดำเนินการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด รวมทั้งดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ของสถาบันการเงิน

5. กำหนดให้ทุกสิ้นปีงบประมาณ หากกองทุนมีเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพันคงเหลือในกองทุนเกินหนึ่งหมื่นล้านบาท ให้นำส่วนที่เกินหนึ่งหมื่นล้านบาทส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ในกรณีกองทุนมีจำนวนเงินไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ครบตามจำนวนดังกล่าว

6. กำหนดให้มี “คณะกรรมการบริหารกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย” มีอำนาจหน้าที่อนุมัติการจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ตรวจสอบผลการดำเนินงานของกิจการที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการบริหารและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน เป็นต้น

7. กำหนดให้การนำเงินกองทุนไปลงทุนหรือหาประโยชน์ ให้ฝากกับสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย หรือลงทุนในหลักทรัพย์อื่นทึ่มีความมั่นคงสูง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

8. กำหนดให้ อก.จัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ของกองทุน

9. กำหนดให้ในกรณีที่การดำเนินกิจการของกองทุนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ให้รัฐมนตรี เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้มีการยุบเลิกกองทุน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ