สาระสำคัญของเรื่อง
ทก. รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจมาทุกปี เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหา และความต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ในการติดตาม ประเมินผล และวางแผนกำหนดนโยบาย ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยได้สำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ มีประชาชนถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 3,900 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 2 – 10 พฤศจิกายน 2558 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ในรอบปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ประชาชนร้อยละ 42.1 ระบุว่า ชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในเรื่อง สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง รองลงมาได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 36.2 ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 28.5 ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 18.4) และการไม่มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ ร้อยละ 16.0 เป็นต้น
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานครร้อยละ 41.6 และภาคกลางร้อยละ 51.7 ระบุว่าได้รับความเดือดร้อนในเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพงมากกว่าเรื่องอื่น ขณะที่ประชาชนในภาคเหนือ ร้อยละ 43 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 56.7 และภาคใต้ ร้อยละ 56.4 คือ ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำมากกว่าเรื่องอื่น
2. เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า ประชาชนร้อยละ 43.9 ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง มากกว่าเรื่องอื่น รองลงมา ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 35.5 การแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ/พยุงราคา ร้อยละ 27.2 การช่วยเหลือ/ดูแล/สนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพให้ผู้ยากจน ร้อยละ 19.2 และการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 13.3 เป็นต้น
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 51.0 ภาคกลาง ร้อยละ 47.4 และภาคใต้ ร้อยละ 52.6 ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่ให้มีราคาแพงมากกว่าเรื่องอื่น เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในปี พ.ศ. 2559 ขณะที่ประชาชนในภาคเหนือร้อยละ 37.6 ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภค ไม่ให้มีราคาแพง และการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนในสัดส่วนที่เท่ากันมากกว่าเรื่องอื่น ส่วนประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 46.0 ระบุว่าต้องการให้แก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่น
3. ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.5 ระบุว่ามีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล (ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก – มากที่สุดร้อยละ 53.2 ปานกลางร้อยละ 36.7 น้อยร้อยละ 8.7 และน้อยที่สุดร้อยละ 0.9 มีเพียงเล็กน้อยที่ไม่พึงพอใจเลย ร้อยละ 0.5 ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 7.5213 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคกลางร้อยละ 57.4 ระบุว่ามีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลอยู่ในระดับมาก – มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ ร้อยละ 56.9 กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 55.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 53.7 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.2
4. ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.3 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้ (ซึ่งในจำนวนนี้มีความเชื่อมั่นมาก – มากที่สุดร้อยละ 53.5 ปานกลางร้อยละ 35.3 น้อยร้อยละ 9.6 และน้อยที่สุดร้อยละ 0.9 มีเพียงเล็กน้อยที่ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 0.7 ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 7.4705 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ประชาชนในภาคใต้ ร้อยละ 59.3 และภาคกลาง ร้อยละ 57.9 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลฯ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ อยู่ในระดับมาก – มากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น รองลงมาได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 51.3 ภาคเหนือ ร้อยละ 50.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 48.5
5. สำหรับข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาลพบว่า ประชาชนประมาณร้อยละ 40 ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง และการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ/พยุงราคา ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่น รองลงมาได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 36.8 การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ 28.2 ต้องการให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อไป ร้อยละ 24.8 การแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 16.2 และการปรับขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้าง/เงินบำนาญ ร้อยละ 12.7 เป็นต้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ธันวาคม 2558--