ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 รวม 12 ฉบับ

ข่าวการเมือง Tuesday December 29, 2015 20:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมีติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 รวม 12 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 รวม 12 ฉบับ

1. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การออกใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงี่อนไขในการทำประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น

กำหนดให้ผู้ประสงค์จะทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนดยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในคำขอรับใบอนุญาต ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่เป็นแหล่งทำการประมง หรือสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร

2. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมงหรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนด พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำประมงพื้นบ้าน

2.1 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมงหรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามที่อธิบดีประกาศกำหนดยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาต ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนด

2.2 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องสามารถทำการประมงได้ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย

2.3 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอ เอกสารหลักฐานเครื่องมือทำการประมง และเรือประมงให้ตรงกับที่ระบุในคำขอ

3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียม พ.ศ. .... กำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียม เช่น เครื่องมือทำการประมงและค่าธรรมเนียมอัตราค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมง

------------------------------------------------------------------------------------
          ลำดับ     ประเภทเครื่องมือทำการประมง                                    อัตราค่าอากร

บาท สตางค์

------------------------------------------------------------------------------------

          1        ประเภทเครื่องมืออวนลาก
                   (1) อวนลากคู่ เมตรละ                                       300         -
                   (2) อวนลากเดี่ยว เมตรละ                                    200         -
          2        ประเภทเครื่องมืออวนล้อมจับ เมตรละ                              10         -
          3        ประเภทเครื่องมืออวนช้อน อวนยก หรืออวนครอบ เมตรละ               10         -
          4        ประเภทเครื่องมืออวนติดตาหรือข่าย
                   (1) อวนติดตาหรือข่าย ทำการประมงน้ำจืด เมตรละ                    -        50
                   (2) อวนติดตา ทำการประมงพื้นบ้าน เมตรละ                         -        50
                   (3) อวนติดตา ทำการประมงพาณิชย์ เมตรละ                         1         -
          5        ประเภทเครื่องมืออวนอื่น
                   เครื่องมืออวนรุนเคย เมตรละ                                     5         -
          6        ประเภทเครื่องมือคราด
                   (1) คราดหอยลาย อันละ                                    2,500         -
                   (2) คราดหอยแครง อันละ                                   1,500         -
                   (3) คราดหอยอื่น อันละ                                       500         -
          7        ประเภทเครื่องมือโป๊ะ ลูกละ                                  2,000         -
          8        ประเภทเครื่องมือลอบ
                   (1) ลอบปลา ลูกละ                                            5         -
                   (2) ลอบปู ลูกละ                                              1         -
                   (3) ลอบหมึก ลูกละ                                            5         -
                   (4) ลอบหมึกสาย ลูกละ                                         -        50
          9        ยอขันช่อ ช้อนขันช่อ ช้อนสนั่น หรือช้อนหางเหยี่ยวมีเครื่องยก ปากละ       200         -
          10       ช้อนปีก ยอปีก หรือบามปากละ                                   300         -
          11       ช้อนอื่นนอกจาก 9 และ 10 ที่มีปากกว้างตั้งแต่ 3.5 เมตรขึ้นไป ปากละ     50         -

12 เบ็ดราวยาวตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป

                   (1) ทำการประมงน้ำจืดและทำการประมงพื้นบ้าน สายละ                20         -
                   (2) ทำการประมงพาณิชย์สายละ                                  50         -
          13       แหยาวตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป (ยังไม่ทบเพลา) ปากละ                   10         -
          14       ประเภทเครื่องมืออื่น ๆ  หน่วยละ                                 10         -

------------------------------------------------------------------------------------

อัตราค่าธรรมเนียม

------------------------------------------------------------------------------------

1. ใบอนุญาตทำการประมง

1. ใบอนุญาตทำการประมงน้ำจืด ฉบับละ 100 บาท

2. ใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ฉบับละ 100 บาท

3. ใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง

1) ใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมงในน่านน้ำภายใน ฉบับละ 200 บาท

2) ใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมงในทะเลชายฝั่งฉบับละ 500 บาท

3) ใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมงในทะเลนอกชายฝั่ง ฉบับ 1,000 บาท

4. ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์

1) ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ โดยใช้เรือขนาด ตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 20 ตันกรอส ฉบับละ 500 บาท

2) ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ โดยใช้เรือขนาดตั้งแต่ 20 ตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่ถึง 60 ตันกรอส ฉบับละ 2,000 บาท

3) ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ โดยใช้เรือขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป ฉบับละ 3,000 บาท

5. ใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย

1) ใบอนุญาตทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง ฉบับละ 5,000 บาท

2) ใบอนุญาตทำการประมงในทะเลหลวง ฉบับละ 8,000 บาท

2. ใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

1. ทำการเพาะเลี้ยงปลา กุ้ง กบ ตารางเมตรละ 2 บาท

2. ทำการเพาะเลี้ยงหอย ตารางเมตรละ 0.50 บาท

3. ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ตารางเมตรละ 1 บาท

3. ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

ฉบับละ 200 บาท

4. การจดทะเบียนเรือเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ

1. เรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำในเขตทะเลนอกชายฝั่ง (ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป แต่ไม่ถึง 60 ตันกรอส)

ฉบับละ 2,000 บาท

2. เรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ในเขตทะเลนอกชายฝั่ง (ขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป)

ฉบับละ 5,000 บาท

3. เรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทย

ฉบับละ 8,000 บาท

5. ใบอนุญาตให้ทำงานในเรือประมง

ฉบับละ 100 บาท

6. ใบแทนใบอนุญาต

ฉบับละ 50 บาท

7. การโอนใบอนุญาต

ฉบับละ 50 บาท

8. การต่ออายุใบอนุญาต

ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

------------------------------------------------------------------------------------

4. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมง เช่น

4.1 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะทำการประมงโดยไม่ใช้เรือประมงแต่ใช้เครื่องมือตามประเภทและขนาดที่อธิบดีกำหนด ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่เป็นแหล่งทำการประมง

4.2 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องสามารถทำการประมงได้ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย

4.3 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐาน เครื่องมือทำการประมงให้ตรงกับที่ระบุในคำขอ ในกรณีที่เป็นเครื่องมือทำการประมงที่ต้องใช้วิธีลงหลัก ปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใดอันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง ให้ตรวจสอบพื้นที่และกำหนดจุดพิกัดให้ตั้งเครื่องมือนั้น

5. ร่างกฎกระทรวงการขอจดทะเบียน และการรับจดทะเบียนเรือประมงให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเรือประมงให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ เช่น

5.1 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะจดทะเบียนเรือประมงให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนเรือประมงให้เป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร

5.2 กำหนดให้ใบทะเบียนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำให้ใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะมีการแจ้งยกเลิกหรือเพิกถอนทะเบียน

5.3 กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงที่ได้จดทะเบียนเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ นำใบทะเบียนดังกล่าวติดไปกับเรือประมง

6. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิด พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำบางชนิด เช่น

6.1 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่านซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาด ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนด

6.2 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตเพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครองครองซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือสัตว์น้ำที่อาจก่อให้เกิดโรคระบาด ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนด

6.3 กำหนดการพิจารณาอนุญาตให้พิจารณาชนิดพันธุ์และจำนวนสัตว์น้ำที่มีอยู่ในประเทศ ผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ และสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีความผูกพัน หากเห็นควรอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำเสนออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายลงนามในใบอนุญาต และกรณีใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก และนำผ่าน ให้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนด รวมทั้งให้กรมประมงประกาศความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติ

7. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การออกใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำประมงพาณิชย์ เช่น

7.1 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์ยื่นคำขออนุญาต พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนด

7.2 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องสามารถทำการประมงได้ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย

7.3 กำหนดให้การอนุญาตต้องพิจารณาปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่อนุญาตให้ทำการประมง พื้นที่ในการทำการประมง หรือห้วงเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

8. ร่างกฎกระทรวงความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือ เช่น

8.1 กำหนดให้ผู้ควบคุมเรือต้องให้ความรู้ในเรื่องการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์ประจำเรือ การใช้เครื่องมือทำการประมง ความรู้และหลักเกณฑ์ในการทำการประมงแก่คนประจำเรือตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และความปลอดภัยในการทำงานบนเรือประมง แก่คนประจำเรือก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในเรือประมง

8.2 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ต้องจัดหาอุปกรณ์และชุดป้องกันภัยส่วนบุคคลสำหรับคนประจำเรือให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่รับผิดชอบและการทำการประมงแต่ละประเภท

8.3 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับเรือประมงขนาดตั้งแต่สามสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ต้องจัดให้มีอาหาร น้ำดื่ม ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และมีปริมาณที่เพียงพอ ให้เหมาะสมกับการทำงานและระยะเวลาการใช้ชีวิตในเรือประมง

2) ต้องจัดให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อนในเรือประมง

3) ต้องจัดให้มีและตรวจสอบเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในเรือประมง

4) ต้องจัดให้คนประจำเรือได้รับการตรวจสุขภาพ

5) ต้องจัดให้คนประจำเรือมีเวลาพักตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล

8.4 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับเรือประมงขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสขึ้นไปต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ต้องจัดสุขอนามัยและสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดไว้ในกรณีเรือประมงขนาดตั้งแต่สามสิบตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึงหกสิบตันกรอส

2) ต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับการพักผ่อน รับประทานอาหารและสันทนาการ ให้เหมาะสมกับจำนวนคนประจำเรือและระยะเวลาในการออกไปทำการประมง

3) ต้องจัดให้มีห้องส้วมอย่างน้อยจำนวนหนึ่งห้องซึ่งมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งตารางเมตร

4) ต้องจัดให้มีคนประจำเรืออย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ

9. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น

(1) กำหนดให้ผู้ประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยเอกสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีจะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตกรุงเทพมหานคร หรือที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้ยื่นคำขอประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรณีจะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดอื่น

(2) กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ที่จะขอรับอนุญาตภายในสามวัน

(3) กำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุสองปีนับแต่วันออกใบอนุญาต

(4) กำหนดให้ผู้ประสงค์จะโอนใบอนุญาตยื่นคำขอโอนใบอนุญาตและผู้รับโอนจะต้องเป็นบุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดานกับผู้รับใบอนุญาต

10. ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ หรือประเภท รูปแบบ ขนาด หรือวัตถุประสงค์ของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ ประเภท รูปแบบ ขนาด หรือวัตถุประสงค์ของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม เช่น กำหนดชนิดหรือลักษณะของสัตว์น้ำ หรือประเภท รูปแบบ ขนาด หรือวัตถุประสงค์ของกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังต่อไปนี้ เป็นกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม

(1) การเลี้ยงปลาในกระชัง

(2) การเลี้ยงหอยทะเล

(3) การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล

(4) การเพาะเลี้ยงจระเข้

(5) การเพาะเลี้ยงชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น

11. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการโอนใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการทำประมงนอกน่านน้ำไทย เช่น

(1) กำหนดให้ผู้จะใช้เรือประมงไทยทำการประมงในเขตทะเลนอกน่านน้ำไทย ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ณ กองบริหารจัดการด้านการประมง กรมประมง หรือสถานที่และวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(2) กำหนดให้การออกใบอนุญาต ให้ออกสำหรับเรือประมงแต่ละลำและต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมงและถ้าผู้ขอรับใบอนุญาตประสงค์จะทำการประมงในเขตของรัฐชายฝั่ง หรือในเขตที่อยู่ในความควบคุมดูแลขององค์การระหว่างประเทศ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแสดงหลักฐานว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในการทำการประมงในเขตดังกล่าว และอยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องได้

(3) กำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุสองปีนับแต่วันออกใบอนุญาต

12. ร่างกฎกระทรวงการขอจดทะเบียน และการรับจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมง พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมง เช่น

(1) กำหนดให้ใบทะเบียนท่าเทียบเรือประมง ให้ใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะมีการแจ้งยกเลิกหรือเพิกถอนทะเบียน

(2) กำหนดให้เจ้าของท่าเทียบเรือประมงที่ได้จดทะเบียนแล้ว มีหน้าที่ต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมงทุกลำที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง และต้องเก็บบันทึกไว้เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ