เรื่อง ขออนุมัติแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงพื้นที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560 – 2564)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝิ่น ยาเสพติด และความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560 – 2564)
2. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำคำของบประมาณในการดำเนินงานตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝิ่น ยาเสพติด และความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564)
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ.รายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ส.ร่วมกับศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่พิเศษ อำเภออมก๋อย ศูนย์บริหารกิจการบ้านเมืองส่วนท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการยกร่างแผนแม่บทฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อลดพื้นที่ปลูกฝิ่นและการแพร่ระบาดของยาเสพติดในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 เพื่อควบคุมและดำเนินการกับกลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปลูก การค้า การรับจ้างที่เกี่ยวข้องฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงภายใต้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง
1.3 เพื่อแก้ไขปัญหาการเสพติดฝิ่นและยาเสพติด โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดในระยะยาวอย่างมีคุณภาพ
1.4 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ผ่านการบำบัดฝิ่นและยาเสพติด พร้อมทั้งครอบครัว โดยได้รับการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ อย่างมีคุณภาพเพื่อป้องกันการเสพติดซ้ำ โดยใช้แนวทางโครงการหลวง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือตามความเหมาะสมของวัฒนธรรมชนเผ่าในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
1.5 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาไม่ให้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับฝิ่นและยาเสพติด รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยแรงงานให้มีความเข้มแข็งห่างไกลจากวงจรฝิ่นและยาเสพติด
1.6 เพื่อสร้างความมั่นคงทางการบริโภคและอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย ประชากรเป้าหมาย รวมทั้งเสริมศักยภาพชุมชนเข้มแข็งเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝิ่นและยาเสพติด ในระยะยาว
1.7 เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและเอกภาพการบริหารจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
2. ยุทธศาสตร์แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560 – 2564)
2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Intelligent Database คือ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีฐานข้อมูลที่รวบรวมและใกล้เคียงความเป็นจริง เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนแม่บทและการคาดการณ์สถานการณ์พื้นที่ปลูกฝิ่นและการแพร่ระบาดของฝิ่น โดยระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ มีฐานข้อมูลสนับสนุนการทำงานด้านสังคมเศรษฐกิจ
หน่วยงานเจ้าภาพและภาคีดำเนินงาน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 และคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การควบคุมพื้นที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง (Affective Controlling) คือการควบคุมพื้นที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง (Affective Controlling) ดำเนินการลดสถานการณ์พื้นที่ปลูกฝิ่นและจัดการผู้เกี่ยวข้องกับฝิ่น ประกอบด้วยเจ้าของแปลงฝิ่น นายทุน ผู้รับจ้างปลูกและกรีดฝิ่น ผู้ค้า ในพื้นที่ลงได้ตามเป้าหมาย ส่งผลให้สถานการณ์ฝิ่นในพื้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอำเภออมก๋อย
หน่วยงานเจ้าภาพและภาคีดำเนินงาน ได้แก่ กองทัพภาคที่ 3 ตำรวจภูธร 5 กรมทหารพรานที่ 36 และตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภออมก๋อย
2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การบำบัดรักษา ติดตาม ฟื้นฟูอย่างครบวงจร (Easy Accessibility for Treatment) คือ พื้นที่อำเภออมก๋อย มีการบำบัด ติดตาม ฟื้นฟูและดูแลต่อเนื่องในกลุ่มผู้ผ่านการบำบัดและครอบครัว พัฒนารูปแบบ/วิธีการบำบัดฟื้นฟูที่เข้าถึงง่ายและหลากหลายวิธีตามวิถีชนเผ่า พัฒนากระบวนการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้ง่ายและคล่องตัว มีกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่คอยติดตามผู้ผ่านการบำบัดมีชุดเคลื่อนที่ Mobile Clinic บริการและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมีอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและพื้นที่
หน่วยงานเจ้าภาพและภาคีดำเนินงาน ได้แก่ โรงพยาบาลอมก๋อย โรงพยาบาลธัญญารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนกงานสาธารณสุขอำเภออมก๋อย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่อำเภออมก๋อย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภออมก๋อย และสถาบันบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
2.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การป้องกันแก้ไขปัญหาฝิ่นและยาเสพติด คือยุทธศาสตร์กระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหาฝิ่นและยาเสพติดให้เกิดภูมิคุ้มกันไม่ไปเกี่ยวข้องกับฝิ่นและยาเสพติดชนิดอื่น ๆ พัฒนาหลักสูตรการจัดการชีวิตทั้งในและนอกสถานศึกษา มีผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่อำเภออมก๋อย และพัฒนาการสร้างเครือข่ายกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความภาคภูมิใจ
หน่วยงานเจ้าภาพและภาคีดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเขต 5 สำนักงานพื้นที่มัธยมศึกษาเขต 34 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภออมก๋อย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านศาสนาในอำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ โครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนและสำนักงานเกษตรอำเภออมก๋อย
2.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง อาชีพและการอนุรักษ์ธรรมชาติ (Active Community) คือประชากรอำเภออมก๋อยมีความมั่นคงจากการปลูกพืชระยะสั้น พืชหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้ มีระบบตลาดกลางรองรับผลผลิตทรัพยากรป่าต้นน้ำได้รับการดูแล ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าตามวิถีชนเผ่าและมีบูรณาการหน่วยงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการสร้างศักยภาพภาคประชาชน ชุมชนและเครือข่ายชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีกระบวนการทำงานให้สามารถควบคุมปัญหาฝิ่นและยาเสพติด โดยในระยะยาวมีการพัฒนากลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภายใต้แนวการพัฒนารูปแบบโรงเรียนผู้นำชนเผ่า และการเสริมสร้างการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หน่วยงานเจ้าภาพและภาคีดำเนินงาน ได้แก่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาชุมชนอำเภออมก๋อย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภออมก๋อย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
2.6 ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การอำนวยการบริหารจัดการ (Modern Management) คือมีการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการที่เหมาะสม โดยใช้กลไกการมีเจ้าภาพรับผิดชอบรายยุทธศาสตร์ โดยการอำนวยการภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 และภาคีในยุทธศาสตร์อย่างคล่องตัว มีการบูรณาการแผนงาน งบประมาณของทุกหน่วยงานและทุกแหล่งงบประมาณเชื่อมโยงกับการจัดทำแผนท้องถิ่นและแผนพัฒนาจังหวัด มีระบบการกำกับติดตามการรายงานผลการดำเนินงานตามช่องการรายงานผลที่กำหนดภายใต้โครงการประเมินติดตามผลการดำเนินงาน โดยมีการถ่ายโอนโครงการเมื่อมีการสถาปนาความมั่นคงให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในปี พ.ศ.2564
หน่วยงานเจ้าภาพและภาคีดำเนินงาน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สำนักงาน ป.ป.ส. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
3. กรอบงบประมาณแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ธันวาคม 2558--