ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday January 5, 2016 17:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

กค.เสนอว่า

1. ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Anti-Pafic Group

on Money Laundering – APG) ตั้งแต่ปี 2544 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 ประเทศไทยในฐานะสมาชิกมีพันธกรณีที่ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย โดยประเทศไทยมีกำหนดเข้ารับการประเมินรอบที่ 3 ในรอบปี 2559 จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเพิ่มหลักเกณฑ์ในการควบคุมเงินตามที่เป็นเงินบาทขาเข้าประเทศ และกำหนดมาตรการควบคุมตราสารทางการเงินผ่านแดน รวมทั้งบทกำหนดโทษการฝ่าฝืนร่างพระราชบัญญัติและอนุบัญญัติที่ออกตามร่างพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจในการตรวจค้น ยึด หรืออายัดสิ่งของดังกล่าวได้ ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาจส่งผลให้ประเทศไทยไม่ผ่านการประเมินดังกล่าว

2. ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. .... เพื่อจะได้จัดส่งรายงานให้ FATF ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 และพร้อมสำหรับการประเมินรอบถัดไปในเดือนพฤศจิกายน 2559 จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนพุทธศักราช 2485

มาตรา 3 กำหนดบทนิยาม “เงินตรา” “เงินตราต่างประเทศ” “ค่าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ” “ทองคำ” “หลักทรัพย์”

มาตรา 4 กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงควบคุม จำกัด หรือห้ามการปฏิบัติกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินหรือการอื่น ซึ่งมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าในรูปใดและให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงในข้อดังต่อไปนี้ด้วย

(1) การซื้อ การขาย การให้กู้ยืมเงินตราต่างประเทศหรือทองคำ

(2) การส่งเงินตรา ธนาคารบัตร ธนาณัติ หลักทรัพย์ เงินตราต่างประเทศ หรือทองคำออกไปนอกประเทศฯลฯ

มาตรา 8 ทวิ กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ ให้ถือว่าเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

การส่งหรือนำ หรือพยายามส่งหรือนำ หรือช่วยเหลือ หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย และให้นำบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของ หรือการจับกุมผู้กระทำผิด การแสดงเท็จ และการฟ้องร้องมาใช้บังคับแก่การกระทำดังกล่าวรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง

ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

4.1 เพิ่มบทนิยามคำว่า “ตราสารเปลี่ยนมือ”

4.2 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 4 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(2) การส่งธนาคารบัตร ธนาณัติ หลักทรัพย์หรือทองคำออกไปนอกประเทศ”

4.3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (2/1) ของมาตรา 4

“(2/1) การส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ตราสารเปลี่ยนมือ ออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ”

4.4 ยกเลิกความในมาตรา 8 ทวิ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 8 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการลักลอบหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ให้ถือว่าเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ตราสารเปลี่ยนมือ ธนาคารบัตรต่างประเทศหรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศ เป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

การส่งหรือนำ หรือพยายามส่งหรือนำ หรือช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการส่งหรือนำเงินตรา เงินตราต่างประเทศ ตราสารเปลี่ยนมือ ธนาคารบัตรต่างประเทศ หรือหลักทรัพย์ไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของหรือการจับกุมผู้กระทำผิด การแสดงเท็จ และการฟ้องร้องมาใช้บังคับแก่การกระทำดังกล่าว รวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง”

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ