ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 22

ข่าวการเมือง Tuesday January 12, 2016 18:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 22

2. เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยหารือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตามประเด็นในกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 22 เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานและความร่วมมือเป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538

สาระสำคัญของเรื่อง

กรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 22 สาระสำคัญสรุปได้ 9 ประเด็น ดังนี้

1. การพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงของ สปป. ลาว และโครงการพัฒนาอื่น ๆ ในพื้นที่ ลุ่มแม่น้ำโขง

1.1 เสนอให้มีความร่วมมือทางวิชาการและสังคมและนำผลการศึกษาของคณะทำงานที่ได้ทำการศึกษาไว้แล้วในเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนด้านทรัพยากรประมงมาพิจารณาเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

1.2 เสนอการจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขง

1.3 เสนอให้ สปป.ลาว มีการหารือเจรจากับบริษัทผู้รับสัมปทานก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าดอนสะโฮงให้ดำเนินการปรับปรุง/แก้ไขการออกแบบโครงการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

1.4 ผลักดันให้มีการดำเนินการเรื่อง “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน” และประยุกต์ใช้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง

1.5 ขอให้ผู้ประกอบการ/ผู้รับสัมปทานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าได้เข้าร่วมฟังประเด็นและข้อคิดเห็นของภาคประชาสังคม

1.6 การพิจารณาข้อเสนอของประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ค.ศ. 2014-2015 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งเวียดนาม) ที่เสนอให้ยกระดับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลประเทศสมาชิก คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยที่ฝ่ายไทยยังไม่มีความประสงค์ตามข้อเสนอของฝ่ายเวียดนามและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้แทนไทยในคณะมนตรี จะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานคณะมนตรี ค.ศ. 2015-2016 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำและอุตุนิยมวิทยาแห่งกัมพูชา) เพื่อแจ้งความเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายไทย

2. การจ่ายเงินอุดหนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสำหรับ ปี ค.ศ. 2016 เป็นต้นไป

3. การศึกษาการจัดการและพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน (Council Study)

4. กฎระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะมนตรีและคณะกรรมการร่วม

5. โครงสร้างองค์กรของสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และการบริหารบุคลากร

6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำ (BDS) บนฐานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ค.ศ. 2016-2020

7. แผนกลยุทธ์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ค.ศ. 2016-2020

8. การถ่ายโอนภารกิจหลักด้านการจัดการลุ่มน้ำจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้แก่ประเทศสมาชิก และการจัดสรรงบประมาณภายใต้การถ่ายโอนภารกิจหลัก

9. ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลก

ทั้งนี้ ทส. และกระทรวงการต่างประเทศจะทำหน้าที่พิจารณาประเด็นสารัตถะตามกรอบการหารือดังกล่าว และมีการเจรจาในการประชุมฯ กับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ทส. และคณะผู้แทนไทยจะใช้ประเด็นตามกรอบการหารือดังกล่าวในการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 22 และจะมีการจัดทำบันทึกการประชุม (โดยการลงนาม) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อการดำเนินงานและความร่วมมือภายใต้พันธกรณีของความตกลงฯ โดยจะไม่ใช้ถ้อยคำหรือมีเจตนาที่ก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างรัฐบาลภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อมิให้บันทึกการประชุมเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่ง ทส. จะเสนอผลการประชุมฯ ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ