รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-รัสเซีย

ข่าวการเมือง Tuesday February 16, 2016 14:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-รัสเซียฉบับลงนาม วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทยและรัสเซีย

2. มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. ประเทศไทยและรัสเซีย (สหภาพโซเวียต) ได้จัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2513 (ค.ศ.1970) เพื่อใช้เป็นความตกลงแม่บทในความสัมพันธ์ด้านการบินระหว่างกัน และได้พบปะหารือกันเป็นระยะครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2557 ที่กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย และได้จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-รัสเซีย (Memorandumof Understanding) ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ซึ่งบันทึกความเข้าใจดัวกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเด็น 1. สิทธิความจุความถี่

สาระสำคัญ

ทั้งสองฝ่ายตกลงปรับปรุงความจุความถี่ ดังนี้

1) เพิ่มความจุความถี่ของฝ่ายรัสเซียให้ทำการบินมายังกรุงเทพฯ และฝ่ายไทยให้ทำการบินไปยังกรุงมอสโก จากเดิม 42 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 70 เที่ยว/สัปดาห์

2) เพิ่มความจุความถี่ของฝ่ายรัสเซียให้ทำการบินมายังภูเก็ต และฝ่ายไทยให้ทำการบินไปยังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จากเดิม 14 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 28 เที่ยว/สัปดาห์

3) เปลี่ยนแปลงจุดในประเทศไทย จากเชียงใหม่ เป็นกระบี่ และเปลี่ยนแปลงจุดในรัสเซีย จาก เออร์กุสต์ เป็น โนโวซีเบียร์สค โดยให้ทำการบินไปยังโนโวซีเบียร์สคและกระบี่ได้ 7 เที่ยว/สัปดาห์

4) สำหรับความจุความถี่ของฝ่ายรัสเซียในการทำการบินมายังอู่ตะเภา และของฝ่ายไทยในการทำการบินไปยังวลาดิโวสต็อคยังคงให้ทำการบินไม่จำกัดความจุความถี่ไว้เช่นเดิม

ประเด็น 2. ใบพิกัดเส้นทางบิน

สาระสำคัญ

ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปรับปรุงใบพิกัดเส้นทางบิน โดยเปลี่ยนแปลงจุดในไทยจากเชียงใหม่ เป็น กระบี่ และจุดในประเทศรัสเซียจากเออร์กุสต์ เป็นโนโวซีเบียร์สค

ประเด็น 3. การแก้ไขความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-รัสเซีย

สาระสำคัญ

คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแก้ไขความตกลงฯ ข้อ 6 ทั้งในฉบับภาษารัสเซียและไทย ให้ตรงตามฉบับภาษาอังกฤษ เป็นภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิกำหนดสายการบินได้หลายสาย ตามที่ระบุไว้ในความตกลงฯ และ ข้อ 14 เรื่อง พิกัดอัตราค่าขนส่ง โดยใช้ร่างมาตรฐานความตกลงฯ ของไทยเป็นหลัก

ประเด็น 4. การใช้อากาศยานเช่ามาทำการบิน

สาระสำคัญ

คณะผู้แทนไทยเสนอขอแก้ไขเกี่ยวกับกรณีการใช้อากาศยานที่มีเครื่องหมายสัญชาติและทะเบียนของประเทศที่สามมาทำการบิน ในข้อ 8 บันทึกความเข้าใจลับฯ ฉบับลงนามวันที่ 8 ธันวาคม 2536 โดยเปลี่ยนจากที่ให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองประเทศสามารถใช้อากาศยานเช่ามาทำการบินจากประเทศที่สามที่ทั้งสองมีความตกลง ว่าด้วยบริการเดินอากาศด้วย เท่านั้น เป็น สามารถเช่าได้จากบริษัทใด ๆ ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าอากาศยานนั้นจะอยู่ในใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศของสายการบินที่กำหนด ทั้งนี้ การใช้อากาศยานเช่าแบบพร้อมลูกเรือจะไม่ได้รับการอนุญาต

ประเด็น 5. สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5

สาระสำคัญ

ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงที่จะนำเรื่องนี้กลับมาหารือกันในการเจรจาการบินครั้งต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อสาย การบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่าย

ประเด็น 6. ข้อตกลงด้านความร่วมมือทางการตลาด

สาระสำคัญ

รัสเซียเสนอให้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน โดยฝ่ายไทยเห็นว่า ยังมีความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของไทย ทั้ง 2 ฝ่ายจึงตกลงว่าจะทำมาหารือในการเจรจาการบินครั้งต่อไป

2. คณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าว โดย คค. จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจ ก่อนมอบให้ กต. ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับต่อไป

3. ผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – รัสเซีย ในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงข้อบทในความตกลงฯ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในของทั้งสองฝ่ายและสภาพการบินในปัจจุบัน สำหรับการปรับปรุงสิทธิการบินต่าง ๆ จะทำให้สายการบินของทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการ และเปิดโอกาสให้สามารถขยายบริการไปยังจุดต่าง ๆ ได้มากขึ้น และแม้ว่าปัจจุบันสายการบินของไทยจะยกเลิกการทำการบินไปยังรัสเซียแล้วก็ตาม หากสายการบินของไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพพอก็จะสามารถทำการบินไปยังรัสเซียได้ทันที นอกจากนี้ การที่สายการบินของรัสเซียทำการบินมายังประเทศไทยจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยที่ชาวรัสเซียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ