สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ อยู่ในการกำกับดูแลของ กค. มีวัตถุประสงค์ แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นักเรียน นักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปทั้งหมดคืนให้กองทุน
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีผู้จัดการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบแนวทางในการดำเนินงาน กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
3. กำหนดให้มีสำนักงานกองทุนทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และดำเนินงานต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและนโยบายของคณะกรรมการรวมทั้งประสานงานกับส่วนราชการและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุน มีอำนาจหน้าที่บริหารและจัดการเงินกองทุนเพื่อการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยผู้จัดการสามารถจ้างสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลใด ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่แทนกองทุนในการบริหารและจัดการการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการดำเนินการติดตามเร่งรัดการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
5. กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขสำหรับสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมดำเนินงานให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและกำกับดูแลสถานศึกษา
6. กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินกู้เพื่อการศึกษาประเภทใดให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการฯ สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแต่ละประเภทนั้น และผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุน รวมถึงการให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน
7. กำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
8. กำหนดให้เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ส่งข้อมูลบุคลากรในสังกัดให้กองทุนตรวจสอบว่าเป็นผู้กู้ยืมเงินหรือไม่ และมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินในลำดับเดียวกับหนี้ค่าภาษีอากร
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2559--