สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการตามความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีแต่ละฉบับได้ โดยพระราชกฤษฎีกาอย่างน้อยต้องมีการกำหนดในเรื่องต่าง ๆ อาทิ คู่สัญญา ผู้มีหน้าที่รายงาน ข้อมูลที่ถูกต้องรายงาน การกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการรายงาน เป็นต้น
2. กำหนดอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่สัญญา โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเรียก รับ หรือจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลจากผู้มีหน้าที่รายงาน การส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา การเรียกและรับข้อมูลจากผู้มีหน้าที่รายงานของคู่สัญญาผ่านเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา เป็นต้น
3. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้มีหน้าที่รายงานหรือ ในสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการธุรกิจที่เป็นการสนับสนุนแก่ผู้มีหน้าที่รายงานเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
4. กำหนดให้อำนาจผู้มีหน้าที่รายงานในการเปิดเผยข้อมูลและส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจในการส่งข้อมูลดังกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามความตกลงได้
5. กำหนดให้มีบทบัญญัติในการคุ้มครองการเปิดเผยข้อมูล โดยให้เปิดเผยข้อมูลเท่าที่เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และมีบทลงโทษแก่บุคคลที่นำข้อมูลไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น
6. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้มีหน้าที่รายงานที่ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ที่ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และกำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2559--