การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท สมัยที่ 7

ข่าวการเมือง Tuesday March 8, 2016 17:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการพัฒนามาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอท [Intergovernmental Negotiating Committee (INC)] to prepare a global legally binding instrument on mercury] สมัยที่ 7 และการประชุมหารือในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม INC สมัยที่ 7

2. เห็นชอบต่อท่าทีของไทยสำหรับใช้ในการประชุม INC สมัยที่ 7

3. หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากท่าทีการเจรจา และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Legally Binding)ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณาสิ้นสุดการประชุมฯ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558

สาระสำคัญของเรื่อง

1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ รวมทั้งประธานคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ ซึ่งมีความครอบคลุมและเหมาะสม ประกอบด้วย

1. อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย

2. ประธานคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

3. ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3 คน

4. ผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 3 คน

5. ผู้แทนกรมการแพทย์ 2 คน

6. ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 คน

7. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 2 คน

8. ผู้แทนกรมศุลกากร 2 คน

9. ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ 3 คน

2. จัดทำท่าทีของไทยสำหรับการประชุม INC สมัยที่ 7 โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการพิจารณารายละเอียดของแนวทางการจัดการปรอท และการเตรียมการด้านกลไกทางการเงิน เพื่อรองรับการมีผลใช้บังคับของอนุสัญญาฯ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่จะมีผลผูกพันในระยะยาว หากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีฯ ในอนาคต และอาจมี การรับรองและเสนอความเห็นเพื่อร่วมพัฒนาแนวทางการจัดการปรอท

3. ท่าทีไทยในการประชุม INC สมัยที่ 7 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ แล้ว มีดังนี้

(1) สนับสนุนการทำงานของ INC ในการเตรียมการเพื่อรองรับการมีผลใช้บังคับของอนุสัญญามินามาตะฯ และการจัดการประชุมรัฐภาคีสมัยแรก

(2) คำนึงถึงความยืดหยุ่น ศักยภาพ ขีดความสามารถ สถานการณ์ และความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการปรอท

(3) สนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพ และขีดความสามารถของประเทศ

(4) ไม่ขัดกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ