คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ชื่อในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 ใช้ชื่อว่า“สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร”
2. ช่วงเวลาดำเนินการ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
2.1 ช่วงการรณรงค์และเสริมสร้างวินัย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 17 เมษายน 2559 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559
2.2 ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2559
3. เป้าหมายการดำเนินงาน
3.1 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559
3.2 จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยตนเอง
4. มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประกอบด้วย
4.1 มาตรการด้านการบริหารจัดการ
4.1.1 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) โดยให้นำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่มาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ แนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่
4.1.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบหมายหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน และอำนวยการ กำกับ ติดตาม ประสานการปฏิบัติ และติดตามประเมินผลการดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4.1.3 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร นำนโยบายและแนวทาง “ประชารัฐ” ของรัฐบาลมาใช้เป็นกลไกในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและเฝ้าระวัง กำกับ ป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ โดยจัดตั้ง “ด่านชุมชน” เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ 1 หมู่บ้าน หรือ 1 ชุมชน 1 ด่านชุมชน และจัดทำประชาคม เพื่อกำหนด “กติกาหรือธรรมนูญชุมชน/หมู่บ้าน” ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบและถือปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดบริเวณพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) และวิธีปฏิบัติในการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัย
4.1.4 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร พิจารณาหามาตรการแนวทางในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2559 ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความปลอดภัยในการสัญจร ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ
4.1.5 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญในการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) และวิธีการเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย รวมทั้งให้มีมาตรการห้ามการเล่นน้ำ บนท้องถนนทั่วไป
4.1.6 ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กำหนดมาตรการองค์กรและบทลงโทษ เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน และป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่ออุบัติเหตุทางถนนของบุคลากรในองค์กร และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รับทราบและปฏิบัติตามมาตรการองค์กรอย่างเคร่งครัด
4.1.7 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งทีมสืบสวนอุบัติเหตุกรณีเกิดอุบัติเหตุกับเด็กที่เมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ โดยให้มีการสืบสวนถึงแหล่งจำหน่ายหรือสถานประกอบการที่จำหน่ายสุราให้เด็กที่ประสบอุบัติเหตุ รวมถึงให้เอาผิดกับผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.1.8 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด บูรณาการข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ร่วมกันระหว่างตำรวจ สาธารณสุข และอำเภอ ก่อนที่จะรายงานมายังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนส่วนกลาง เพื่อให้ข้อมูลเป็นเอกภาพเดียวกัน
4.2 มาตรการด้านถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย
4.2.1 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ประสานหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลถนนตามกฎหมายให้ตรวจสอบจุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ในถนนที่รับผิดชอบ และเร่งปรับปรุง และแก้ไขให้มีความปลอดภัยในการสัญจร
4.2.2 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) ทางเลี่ยง ทางลัด พร้อมป้ายแนะนำและบอกระยะทาง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านจราจรแก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่และวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติ
4.2.3 ให้จังหวัดที่มีทางรถไฟผ่านในพื้นที่และกรุงเทพมหานคร ดำเนินการสำรวจตรวจสอบ จุดตัดทางรถไฟที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) และกำหนดมาตรการ แนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีความปลอดภัยในการสัญจร
4.2.4 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของถนน สิ่งอันตรายข้างทาง (Roadside Hazards) ที่อยู่ ในความรับผิดชอบ และดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงถนนให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ตลอดจนปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมอันตรายข้างทางให้มีความปลอดภัยในการสัญจร อย่าให้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
4.2.5 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร สำรวจตรวจสอบ ป้ายเตือน ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ สัญญาณจราจร ไฟส่องสว่าง เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ และติดตั้งในบริเวณที่เหมาะสมมองเห็นได้ชัดเจน
4.2.6 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือผู้รับจ้างก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและคืนพื้นผิวจราจรก่อนเทศกาลสงกรานต์ และกรณี ยังไม่แล้วเสร็จให้ติดตั้งเครื่องหมาย สัญลักษณ์ให้ชัดเจนในระยะที่ปลอดภัย เพื่อแจ้งผู้ใช้เส้นทางล่วงหน้าก่อนถึงบริเวณก่อสร้าง
4.2.7 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด หน่วยงานทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดจุดพักรถเพิ่มเติม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม
4.3 มาตรการด้านยานพาหนะที่ปลอดภัย
4.3.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภทให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.3.2 ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการ แนวทาง เพื่อกำกับ ควบคุมดูแล ทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถโดยสารไม่ประจำทาง เพื่อให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย
4.3.3 ให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกให้หยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในช่วงเทศกาลสงกรานต์พ.ศ. 2559
4.4 มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
4.4.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง อาทิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 46/2558 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นต้น
4.4.2 ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ
4.4.3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานปกครองในพื้นที่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจิตสำนึกความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
4.4.4 ให้จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสอบสภาพรถ เส้นทางสัญจร และเตรียมความพร้อมสภาพร่างกายก่อนออกเดินทาง
4.5 มาตรการด้านการตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ
4.5.1 จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การสั่งการ ประสานงาน และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่ายและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
4.5.2 จัดเตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ชีพ และกู้ภัย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ การสั่งการ ระบบการติดต่อสื่อสาร และดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
4.5.3 จัดเตรียมความพร้อมของระบบการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ณ จุดเกิดเหตุของแต่พื้นที่
4.5.4 การให้ความช่วยเหลือและเยียวยาหลังเกิดอุบัติเหตุ และประชาสัมพันธ์ระบบการช่วยเหลือต่างๆ ที่ผู้ประสบเหตุควรจะได้รับ
4.5.5 ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (ประกันภัย พ.ร.บ.)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มีนาคม 2559--