แผนอำนวยความสะดวก ปลอดภัยและมั่นคง รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ของกระทรวงคมนาคม

ข่าวการเมือง Tuesday March 29, 2016 18:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนอำนวยความสะดวก ปลอดภัยและมั่นคง รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ของกระทรวงคมนาคม (คค.) ตามที่ คค. เสนอ

สาระสำคัญของแผนอำนวยความสะดวก รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559

1. การจัดบริการขนส่งสาธารณะ จัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่งชานชาลาและพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนยานพาหนะโดยสารและเที่ยววิ่ง / เที่ยวบิน เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน 2559 จากจำนวน 351,455 เที่ยว เป็น 406,248 เที่ยว รองรับผู้โดยสารจำนวน 24,909,951 คน โดยมีมาตรการรองรับการเดินทางของประชาชน ดังนี้

1.1 การจัดเตรียมรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารเสริมให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ

1.2 ขอความร่วมมือสมาคมขนส่งสินค้า สมาคมรถบรรทุกและผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก ให้หลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในช่วงเทศกาล

1.3 จัดรถ Shuttle Bus รถเฉพาะกิจฟรี ช่วงวันที่ 8 – 18 เมษายน 2559 จำนวน 2 เส้นทาง คือ สาย 3 วงกลมอู่หมอชิต – สถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร และสาย 54 อู่หมอชิต 2 – อนุสาวรีย์ชัยฯ

1.4 จัดให้ผู้สูงอายุสัญชาติไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยสารรถไฟฟ้า Airport Rail Link ฟรีตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. วันที่ 13 เมษายน 2559 เพียงแสดงบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ขายตั๋วโดยสาร

2. การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน

2.1 การยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ คือ

(1) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี)

(2) หมายเลข 9 (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออกช่วงบางปะอิน-บางพลี) และ

(3) ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา - ชลบุรี) เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณหน้าด่าน ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 เมษายน 2559 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 17 เมษายน 2559

2.2 ตรวจสอบ/แก้ไข/ปรับปรุงถนน/สะพานในความรับผิดชอบให้สะดวกและปลอดภัย โดยมีเครื่องหมาย/อุปกรณ์จราจรครบถ้วน บูรณาการการติดตั้งป้ายกับหน่วยงานท้องถิ่นให้เห็นได้ชัดเจน รวมทั้งประกาศทางเลี่ยงบนเว็บไซต์ของ คค. และของหน่วยงาน

2.3 มาตรการคืนพื้นที่ผิวจราจร โดยหยุดดำเนินการก่อสร้าง/ซ่อมแซมถนนและสะพานในช่วงเทศกาลพร้อมทั้งติดตั้งเครื่องหมายเตือน ป้ายแนะนำ และไฟสัญญาณเป็นระยะๆ ให้ชัดเจนก่อนถึงบริเวณก่อสร้าง/ซ่อมบำรุงทาง

3. การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ / สถานีขนส่ง / ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร / สถานีรถไฟ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชน เข้มงวดเรื่องความสะอาดของห้องน้ำภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และจัดที่จอดรถที่สะดวก ปลอดภัยและเพียงพอ

4. อำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลการจราจร

1) ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม จัดให้มีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ (Call Center) สายด่วน 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง

2) ศูนย์ปฏิบัติการ คค. (MOTOC) ให้บริการข้อมูลสถิติจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ข้อมูลอุบัติเหตุ (ระบบ TRAMS) และการรายงานสภาพจราจรจากกล้อง CCTV โดยดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ และบริหารจัดการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

แผนอำนวยการด้านความปลอดภัยและมั่นคง ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการด้านการบริหารจัดการผู้ขับขี่/ ผู้โดยสารปลอดภัย

1) ตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะตรวจวัดแอลกอฮอล์

2) ขอความร่วมมือสมาคมขนส่งสินค้า สมาคมรถบรรทุกและผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในช่วงเทศกาล ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2559

3) ห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถและในสถานีขนส่งผู้โดยสาร พร้อมทั้งกวดขันการเล่นน้ำบนท้ายรถกระบะที่ไม่มีหลังคา

2. มาตรการยานพาหนะปลอดภัย

1) ตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะทุกคัน

2) ตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสาร ตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ 11 จังหวัด ดังนี้ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ ระยอง จำนวน 14 จุด

3) ออกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะติดตั้ง GPS พร้อมเชื่อมข้อมูลการเดินทาง และจัดทำแอพพลิเคชั่น GPS เพื่อสามารถติดตามการใช้ความเร็วและชั่วโมงการเดินทางของรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559

4) ตรวจสภาพความพร้อมของเรือโดยสารให้มีความมั่นคง แข็งแรง มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่พร้อมใช้งาน

5) ตรวจความพร้อมของเครื่องบิน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินตลอดเวลา

3. มาตรการถนนปลอดภัย

1) ตรวจสอบป้ายจราจร เครื่องหมายควบคุมการจราจร สัญญาณไฟจราจร ไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกระพริบให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน รวมทั้งปรับปรุงให้ประชาชนสามารถเห็นได้ชัดเจน

2) ตรวจสอบและแก้ไขพื้นที่จุดเสี่ยงจุดอันตรายจุดวิกฤตด้านการจราจรและจุดที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมผิวจราจรที่เสียหาย

4. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย

1) จัดหน่วยเคลื่อนที่ออกตรวจจับความเร็วของรถโดยสาร ณ เส้นทางสายหลักเข้า – ออกกรุงเทพฯ ไปสู่ภูมิภาคอย่างเข้มข้น

2) กวดขันผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง หากไม่ปฏิบัติตามห้ามออกเดินรถจากสถานี อย่างเด็ดขาด

5. มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ

1) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดยการประสานองค์กรต่างๆ เช่น หน่วยกู้ภัย มูลนิธิทีมอาสาท้องถิ่น

2) จัดหน่วยเฉพาะกิจทางพิเศษใช้รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ตรวจตรา ดูแลและช่วยเหลือได้ทันท่วงที

6. มาตรการด้านความมั่นคง ขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารมาดูแลรักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ/ สถานีขนส่ง/ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร/สถานีรถไฟ ตลอด 24 ชั่วโมง จัดวางถังขยะในตำแหน่งที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกล้องวงจรปิด รวมทั้งห้ามรับฝากสัมภาระสิ่งของไปกับรถโดยสารโดยผู้ฝากไม่ได้เดินทางไปด้วย เว้นแต่จะได้รับการตรวจสอบว่ามิใช่สิ่งของต้องห้ามโดยต้องระบุชื่อที่อยู่ไว้อย่างชัดเจน

7. มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ ให้บริการข้อมูลข่าวสารผ่านสายด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมหรือศูนย์ปลอดภัยคมนาคม Call Center 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง

การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถิติการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และสถิติอุบัติเหตุ มายังศูนย์ MOTOC ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็นประจำทุกวันตลอดช่วงเทศกาล ช่วงหลังเทศกาล ภายหลังเสร็จสิ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 หน่วยงานในสังกัด คค. ประมวลสรุปผลการปฏิบัติงานพร้อมข้อเสนอแนะให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ภายในวันที่ 22 เมษายน 2559 เพื่อสรุปผลการดำเนินการเบื้องต้นนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มีนาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ