การลงนามความตกลงปารีส

ข่าวการเมือง Tuesday April 5, 2016 17:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส (High-level signature ceremony of the Paris Agreement) ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มีอำนาจลงนามในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส

3. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในพิธีลงนามระดับสูงความตกลงปารีส และจัดส่ง note verbale เพื่อยืนยันการเข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยระบุชื่อและตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ดังกล่าว ต่อฝ่ายสนธิสัญญา สำนักกฎหมายแห่งสหประชาชาติ (Treaty Section, United Nations Office of Legal Affairs) โดยด่วนต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. วัตถุประสงค์สำคัญของความตกลงปารีส คือ การกำหนดเป้าหมายร่วมกันระดับโลก 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และการมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (2) เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร และ (3) และทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและการพัฒนาให้มีความสามารถในการ ฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. รายละเอียดของความตกลงปารีส ครอบคลุมการดำเนินงานเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาและกรอบการรายงานข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุนการดำเนินงานแก่ประเทศกำลังพัฒนา

3. การลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในทางนโยบายของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 หลังจากวันที่ภาคีอนุสัญญาอย่างน้อยที่สุด 55 ภาคี ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 55 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ได้มอบสัตยาบันสาร สารการยอมรับ สารการให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประธานกลุ่ม 77 ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ความตกลงปารีสเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศกำหนดการดำเนินงานที่เหมาะสมของประเทศได้เอง ซึ่งประเทศไทยสามารถกำหนดให้สอดคล้องกับแผนระดับประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการลงนามความตกลงปารีสนี้ ยังไม่ถือว่าประเทศไทยมีพันธกรณีใด ๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 เมษายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ