คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
รง. เสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะอัตราโทษสำหรับความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก และไม่เอื้ออำนวยต่อการป้องกันยับยั้ง และขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล อีกทั้งเป็นการอนุวัติการบทบัญญัติเกี่ยวกับบทลงโทษในความผิดที่กระทำต่อเด็กให้เหมาะสม เพื่อประกันให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ ค.ศ. 1973 ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อ พ.ศ. 2547 จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก ดังนี้
1. งานอันตรายสำหรับเด็ก กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายตามที่มาตรา 49 กำหนดไว้ เช่น งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เป็นต้น
อัตราโทษตามพระราชบัญญัติฯ (ปัจจุบัน)
1. ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อัตราโทษตามร่างพระราชบัญญัติ ฯ (ใหม่)
1. ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. สถานที่ห้ามทำงานสำหรับเด็ก กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ตามที่มาตรา 50 กำหนดไว้ เช่น โรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นการพนัน สถานบริการ เป็นต้น
อัตราโทษตามพระราชบัญญัติฯ (ปัจจุบัน)
1. ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อัตราโทษตามร่างพระราชบัญญัติ ฯ (ใหม่)
1. ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. อายุขั้นต่ำของเด็ก กรณีที่นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในงานทั่วไป และงานตามที่กฎกระทรวงกำหนดในงานเกษตรกรรมและงานประมงทะเล
อัตราโทษตามพระราชบัญญัติฯ (ปัจจุบัน)
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อัตราโทษตามร่างพระราชบัญญัติ ฯ (ใหม่)
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 เมษายน 2559--