มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา (ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....)

ข่าวการเมือง Tuesday April 19, 2016 18:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาของมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาและอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กค. เสนอว่า

1. ปัจจุบัน กค. ได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้กำหนดวันสิ้นอายุตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 ดังนี้

1.1 กรณีหักลดหย่อนหรือหักค่าใช้จ่ายได้ 1 เท่า เช่น การบริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของทางราชการและเอกชน หอสมุดหรือห้องสมุดหรือสถาบันวิจัยของทางราชการ การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นการทั่วไป

1.2 กรณีหักลดหย่อนหรือหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เพื่อส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษ เช่น การบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่ ศธ. ให้ความเห็นชอบโดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำราเรียนฯ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาฯ การบริจาคเงินเข้ากองทุนพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ที่ ศธ. จัดตั้งขึ้น การบริจาคเพื่อสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการ หรือเอกชนที่เปิดให้ใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ

2. ต่อมาเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนสนับสนุนการศึกษามากยิ่งขึ้น จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 558) พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาเพิ่มเติม ดังนี้

2.1 กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชนโดยไม่รวมโรงเรียนนอกระบบ สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่ ศธ. ให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

2.2 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชนโดยไม่รวมโรงเรียนนอกระบบ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาโครงการที่ ศธ. ให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของราชการหรือเอกชนที่เปิดให้บริการโดยไม่เก็บค่าบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

2.3 ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้สถานศึกษาโดยจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล การให้สิทธิทางภาษีทั้งหมดมีผลบังคับสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันทื่ 31 ธันวาคม 2558

3. เนื่องจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 558) พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการสนับสนุนการศึกษา และเพื่อเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาตามนโยบายประชารัฐ โดยให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษามากขึ้น และก่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งสนองตอบต่อการดำเนินงานของคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) ภายใต้กรอบคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต (Competitive Workforce) และด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ออกไปอีกเพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยกำหนดให้ผู้บริจาคให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชน สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือค่าใช้จ่ายได้ สำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 เมษายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ