คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. เสนอว่า
1. เนื่องจากพระราชกำหนดบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติ บางประการเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน อีกทั้งธุรกรรมทางการเงินมีความหลากหลายยิ่งขึ้น บรรษัทตลาดรองเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นที่จะต้องขยายขอบเขตการดำเนินธุรกรรม เพื่อสนับสนุนการระดมทุนในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย การกำหนดให้เป็นสถาบันการเงินภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้
1.1 ปรับปรุงนิยามคำว่า “ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย” เนื่องจากธุรกรรมตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยมิได้จำกัดอยู่เพียงการรับโอนสินทรัพย์และการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ แต่ยังสมควรให้หมายความรวมถึงการระดมทุนแบบใด ๆ ที่มีการนำสินทรัพย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับการระดมทุนนั้น ๆ ด้วย โดยครอบคลุมถึงอสังหาริมทรัพย์อื่นนอกจากที่อยู่อาศัยด้วย เช่น การออกตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ (Covered Bond) ซึ่งใช้สินทรัพย์ที่รับโอนเป็นประกันการชำระหนี้ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ตามตราสารหนี้ที่ออก เป็นต้น
1.2 ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถ
1.2.1 รับโอนสินทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงิน โดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเดิมผู้ประกอบธุรกิจกู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ (Mortgage Company) ถือเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 แต่ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ จึงได้ยกเลิกพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ และทำให้ Mortgage Company ไม่ใช่สถาบันการเงินอีกต่อไป
1.2.2 ก่อตั้งทรัสต์หรือเป็นทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เนื่องจากมีการนำธุรกรรมทรัสต์ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 มาใช้ในธุรกรรมตลาดทุน เช่น การออกหลักทรัพย์ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งอำนาจในการกระทำการในปัจจุบันยังไม่รวมถึงการทำธุรกรรมทรัสต์อย่างชัดเจนและการแก้ไขนี้ยังรองรับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยนิติบุคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งจะสามารถทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยกลไกของทรัสต์ได้
1.2.3 ประกอบกิจการที่ปรึกษาทางการเงินหรือกิจการรับบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงินที่อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่หน่วยงานอื่นได้ เพื่อให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เป็นประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นและเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดรองภายในประเทศ
1.2.4 จัดตั้งหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
1.3 แก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างของคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ที่กำหนดให้กรรมการโดยตำแหน่งต้องไม่เป็นผู้กำกับดูแลรายสาขา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จึงต้องแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยตัดกรรมการที่มาจากผู้แทน ธปท. ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายออก
1.4 ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลอื่นและมาตรฐานสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะรับโอนได้
1.5 ปรับปรุงเกี่ยวกับการค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดย กค. ในกรณีที่บรรษัทตลาดรองเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ที่กู้ยืมจากแหล่งให้กู้ยืมภายในประเทศหรือต่างประเทศ ให้รัฐบาลมีอำนาจค้ำประกันเงินกู้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และเพิ่มบทบัญญัติให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสถาบันการเงินภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
2. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยสามารถขยายการประกอบธุรกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกิจของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกทั้งยังก่อให้เกิดทางเลือกในการระดมเงินของธนาคาร ซึ่งในสถานการณ์ที่อัตราการเติบโตของเงินฝากและเงินให้สินเชื่อมีความแตกต่างกัน ทำให้สถาบันการเงินต้องพึ่งพาการระดมทุนด้วยวิธีอื่นนอกจากเงินฝากมากขึ้น และยังช่วยให้มีต้นทุนในการระดมเงินต่ำลง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤษภาคม 2559--