คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ
1. กำหนดให้ปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยแม่โจ้จากมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่นแต่อยู่ในกำกับของรัฐบาล
2. กำหนดให้กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการซื้อ ขาย สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าชื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน จำหน่าย ทำนิติกรรมใด ๆ ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สิน และจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร รวมทั้งรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และมหาวิทยาลัยสามารถกู้ยืมเงิน และให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคล หรือทรัพย์สิน และร่วมลงทุนหรือลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ สามารถกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ รวมทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ตลอดจนสามารถปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ ใช้และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย และที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
4. กำหนดให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
5. กำหนดให้บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่มหาวิทยาลัยได้มาจากการให้ หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยหรือได้มาโดยวิธีอื่น ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย
6. กำหนดให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้งการบังคับทางปกครอง และบุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้
7. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย กำหนดวาระดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 พฤษภาคม 2559--