การถอนข้อสงวนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

ข่าวการเมือง Tuesday June 7, 2016 17:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการถอนข้อสงวนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination : CERD) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองโดยข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 2106 ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 20 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2508 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2512 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านและขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ฉบับที่แล้ว 177 ประเทศ และลงนามในอนุสัญญาฯ แล้ว จำนวน 6 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน 2559) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และให้จัดทำข้อสงวนข้อบทที่ 4 ซึ่ง กต. ได้ดำเนินการภาคยานุวัติเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ส่งผลให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นมา

2. อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านและขจัดการเหยียดผิว และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ โดยข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีประณามการโฆษณาชวนเชื่อทั้งมวลและองค์กรทั้งปวงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดหรือทฤษฎีของความเหนือกว่าของชนชาติหนึ่งเชื้อชาติใด หรือของกลุ่มบุคคลตามสีผิวหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด หรือที่พยายามให้เหตุผลรองรับ หรือส่งเสริมความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติหรือการเลือกปฏิบัติในรูปแบบใดก็ตามและตกลงที่จะจัดให้มีมาตรการในทางบวกในทันทีที่จะขจัดการกระตุ้นหรือการกระทำที่เลือกปฏิบัติและเพื่อการนี้ จะดำเนินการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงหลักการที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและสิทธิต่าง ๆ

3. การถอนข้อสงวนในส่วนข้อบทที่ 4 ของอนุสัญญาฯ เป็นการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ไทยได้รับไว้ในชั้นการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 1 และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยต้องส่งรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ภายในปี 2559 ซึ่งการถอนข้อสงวนดังกล่าวจะเป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกประการที่ประเทศไทยสามารถนำเสนอต่อเวทีโลก อันจะส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มิถุนายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ