คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1.อนุมัติแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ใช้เป็นกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ 2 ระยะ โดย
2.1 ระยะเริ่มต้น 3 ปี (2559-2561) เป็นโครงการรณรงค์การกำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ครบ 70 ปี ในปีพุทธศักราช 2559 พร้อมทั้งเสด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ตลอดจน ในปีพุทธศักราช 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา
2.2 ระยะที่ 2 เป็นการขับเคลื่อนตามมาตรการของแผนยุทธศาสตร์ในระยะเวลาที่เหลือ (2562-2568) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ ส่งผลให้การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเกิดความยั่งยืน และผลักดันให้เป็นการดำเนินงานในแผนงานปกติในอนาคตต่อไป
3. สนับสนุนงบประมาณการขับเคลื่อนตามมาตรการของแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้สามารถดำเนินการกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนในอนาคต
4. มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขนำแผนดังกล่าวมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (ถึงเดือนกรกฎาคม 2560) ทั้งนี้ กิจกรรมใดที่เป็นการดำเนินการซึ่งเกินกว่ากรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ให้นำเรื่องดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนปฏิรูปเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 เรื่อง การเสนอโครงการที่ต้องขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า การจำทำแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568 ฉบับนี้ได้มีการนำยุทธศาสตร์กำจัดมะเร็งท่อน้ำดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จัดทำเมื่อปี 2555 มาต่อยอดความคิดเชิงลึกในแต่ละประเด็นปัญหา สานต่อแนวคิดสุขภาพพอเพียงตามแนวปรัชญาของเศรษฐกืจพอเพียงผ่านมุมมองแบบบูรณาการเป็นองค์รวมในบริบทแวดล้อมที่กว้างขวาง สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมที่มีความชัดเจนของเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งสร้างวิถีชีวิตพอเพียงเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ให้ก้าวไปสู่ระบบสุขภาพพอเพียง ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. มาตรการเชิงนโยบายและการควบคุมกำกับอย่างเข้มข้น
2. เสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายความครอบคลุมของมาตรการเชิงป้องกันทั้งในประเทศและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
3. พัฒนาคุณภาพการคัดกรองวินิจฉัย การดูแลรักษา การส่งต่อทั้งระบบอย่างบูรณาการ
4. ส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพของชุมชนและองค์กรท้องถิ่นในการป้องกันควบคุมและจัดการสิ่งแวดล้อมโรคพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดีและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างเป็นระบบ
5. การศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มิถุนายน 2559--