คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 11 (11th Asia-Europe Meeting - ASEM 11) ทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ประธาน (Chair’s Statement) และปฏิญญาอูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar Declaration) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้ความเห็นชอบเอกสารดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุม ASEM 11 ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2559 ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย โดยในการประชุมดังกล่าว จะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่
(1) แถลงการณ์ประธาน (Chair's Statement) และ
(2) ปฏิญญาอูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar Declaration)
2. ร่างแถลงการณ์ประธาน แสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิก ASEM ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอเชียกับยุโรปในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการภัยพิบัติ การรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจโลก การขยายการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการส่งเสริมความเชื่อมโยง รวมทั้งย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของสหประชาชาติ และการร่วมกันแก้ไขปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น ความมั่นคงทางทะเล การต่อต้านการก่อการร้าย และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ
3. ร่างปฏิญญาอูลานบาตอร์ เน้นย้ำถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของ ASEM เช่น การเป็นเวทีหารือเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ รวมทั้งระบุวิสัยทัศน์ของ ASEM ในทศวรรษที่ 3 ได้แก่
1) เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ความเป็นหุ้นส่วน
2) ส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม
3) ส่งเสริมความเชื่อมโยง
4) การปรับปรุงกระบวนการทำงานของ ASEM
4. การให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ในกรอบ ASEM ตลอดจนเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ASEM แล้วแสดงจุดยืนร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ
5. แถลงการณ์ประธานและปฏิญญาอูลานบาตอร์ได้ระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ไทยให้ความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยหลายประการ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การร่วมให้ความเห็นชอบต่อเอกสารทั้งสองฉบับจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวระหว่างไทยกับสมาชิก ASEM ต่อไป
6. โดยที่ร่างเอกสารทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของสมาชิกASEM เพื่อตระหนักถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของ ASEM และเพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยมิได้มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างเอกสาร ทั้ง 2 ฉบับ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กรกฏาคม 2559--