ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday July 26, 2016 16:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และ

2. รับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ประเด็นที่ขอแก้ไข/รายละเอียดและเหตุผล

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม

  • เพิ่มบทนิยาม “นำผ่าน” “นำผ่านเข้ามา” และ “ส่งกลับออกไป” เพื่อกำหนดการควบคุมการนำผ่านวัตถุอันตราย ให้แตกต่างจากการนำเข้าวัตถุอันตราย และให้สอดคล้องกับความตกลงตามพิธีสาร 7 ตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศอาเซียน
  • แก้ไขบทนิยาม “นำเข้า” และ “ส่งออก” เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าไม่รวมถึงการนำผ่านวัตถุอันตราย

2. เพิ่มกลไกคณะกรรมการ

  • แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยยกระดับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขึ้นเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทาง นโยบายต่าง ๆ ในการบริหารจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย
  • กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการควบคุมวัตถุอันตรายเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการของหน่วยงานผู้รับผิดชอบภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติกำหนด

3. แก้ไขเพิ่มเติมอายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

  • จากเดิมกำหนดไม่เกิน 6 ปี เป็น ไม่เกิน 10 ปี เนื่องจากการผลิต หรือการนำเข้า วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 ที่อยู่นอกรายชื่อประกาศของรัฐมนตรีจะต้องนำมาขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และเมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าหรือออกใบอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าได้

4. เพิ่มบทบัญญัติสำหรับวัตถุอันตรายที่ใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ

  • รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกประกาศยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับวัตถุอันตรายที่ใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และการพัฒนาเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ

5. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติการควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตราย

  • กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมโฆษณาวัตถุอันตรายไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเดิมกำหนดให้นำหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

6. เพิ่มเติมบทลงโทษทางอาญา

  • เพิ่มบทลงโทษการกระทำโดยประมาท กรณีผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 1,2 และ 3 ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กรกฏาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ