คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยปรับปรุงแก้ไขขอบเขตการใช้บังคับให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างของส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น เพิ่มเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง แก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการกองทุนเงินทดแทน ลดการจ่ายเงินเพิ่มกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบหรือจ่ายไม่ครบจำนวน และแก้ไขบทกำหนดโทษให้เหมาะสม
การแก้ไขดังกล่าวเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อลูกจ้างต้องประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง และขยายโอกาสให้ลูกจ้างของส่วนราชการได้รับความคุ้มครองในคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่พึงได้เช่นลูกจ้างโดยทั่วไป รวมทั้งเพื่อให้มีบทบัญญัติที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยกระทรวงแรงงานได้กำหนดให้มีการออกกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 15 ฉบับ และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนสิงหาคม 2560
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 สิงหาคม 2559--