คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. กำหนดนิยามคำว่า “การก่อการร้าย” หมายความว่า การกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือรับรอง คำว่า “อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” หมายความว่า อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี หรืออาวุธอื่นใดซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืช จำนวนมาก หรือต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง รวมทั้งระบบการส่งอาวุธ ส่วนประกอบ หรืออุปกรณ์ของอาวุธดังกล่าว และคำว่า “บุคคลที่ถูกกำหนด” หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อ ซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายหรือเป็นผู้แพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูง เป็นต้น
3. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่กำหนดรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายและสำนักงาน ปปง. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
4. กำหนดให้สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด เมื่อมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ยังอาจเสนอรายชื่อ บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดไปยังคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ดำเนินการกำหนดรายชื่อดังกล่าวเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดไว้ และเมื่อมีการกำหนดรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดดังกล่าวแล้วให้สำนักงาน ปปง. ประกาศรายชื่อบุคคลนั้นด้วย
5. กำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงานและบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดให้ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากนี้ เพื่อติดตามควบคุมการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด จึงต้องกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการให้สำนักงาน ปปง. ทราบรวมถึงการแจ้งให้สำนักงานทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นลูกค้าซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดหรือผู้ที่มีหรือเคยมีการทำธุรกรรมกับผู้นั้น
6. กำหนดบุคคลที่ถูกกำหนดและผู้ซึ่งถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาเรื่องการเพิกถอนรายชื่อออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดและบุคคลอื่นนอกจากบุคคลที่ถูกกำหนดอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ ชำระดอกเบี้ยหรือดอกผล หรือชำระหนี้ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด รวมถึงขออนุญาตดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด
7. กำหนดให้บุคคลที่ถูกกำหนดเนื่องจากเป็นผู้กระทำการอันเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อเพื่อขออนุญาตดำเนินการใดๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการก็ได้ โดยก่อนการอนุญาตให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อส่งคำร้องไปยังคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อพิจารณาคำร้องของบุคคลที่ถูกกำหนด และเมื่อคณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยเป็นอย่างไรแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อดำเนินการไปตามนั้น
8. กำหนดให้บุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดหรือผู้มีหน้าที่รายงาน เนื่องจากการไม่ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน การไม่แจ้งข้อมูลทรัพย์สินที่ได้ระงับการดำเนินการไว้ รวมทั้งไม่ได้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกกำหนดเพื่อแจ้งให้สำนักงาน ปปง. ทราบ
9. กำหนดความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงกำหนดให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
10. กำหนดให้ผู้สนับสนุนหรือผู้สมคบกันในการกระทำความผิดต้องระวางโทษ เช่น เกี่ยวกับตัวการในการกระทำความผิดนั้น และกรณีกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรในบางกรณีต้องรับโทษในราชอาณาจักร
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 สิงหาคม 2559--