มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท

ข่าวการเมือง Tuesday August 2, 2016 18:36 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท (ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่ SMEs กลับเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจาก SMEs ยังขาดการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ SMEs ในปี 2558 ที่ระบุว่าทักษะและความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs การเข้าถึงข้อมูลและเครือข่ายธุรกิจ และขาดการสนับสนุนทางการเงินเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายธุรกิจ SMEs ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs จึงเห็นควรมีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)

1.1 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรเกิน 200 ล้านบาท และการจ้างงานเกิน 200 คน สามารถนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท และการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้มีการจ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับ

(1) รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความเห็นชอบและ

(2) รายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรการ 65 ตรี

(3) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี

1.2 ลักษณะโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) การถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ การบริหาร การตลาด การบัญชี เป็นต้น

(2) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม

(3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำไร

(4) การส่งเสริมการตลาด

(5) จ่ายค่าธรรมเนียม ค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการที่ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

1.3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องไม่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและบริหารงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จ่ายไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการ

1.4 ค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามข้อ 1.2 จะต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันต้องมีหลักฐานการชำระเงินที่ระบุชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงิน และชื่อผู้ประกอบการได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

1.5 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท

2.1 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยสามารถนำรายจ่ายที่จ่ายไปในโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการจะพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและสังคมสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้มีการจ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่ ศธ. ให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายการจัดสร้างและการบำรุงรักษา สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

2.2 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

(1) ไฟฟ้า

(2) ประปา

(3) ถนน ทางพิเศษ หรือสัมปทาน

(4) โทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

(5) พลังงานทางเลือก

(6) ระบบบริหารจัดการน้ำ หรือการชลประทาน

(7) ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยและระบบจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นด้วย

(8) ระบบจัดการของเสีย

(9) โครงการที่มี (1) – (8) ประกอบกัน

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548

2.3 พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้แก่

(1) อุทยานแห่งชาติ

(2) โบราณสถาน

(3) แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐ

2.4 โครงการดังกล่าวต้องได้รับการรับรองโดยส่วนราชการหรือองค์การของรัฐ

2.5 ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้กับส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐ โดยไม่มีค่าตอบแทน

2.6 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

มาตรการทั้ง 2 มาตรการเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมไทยก่อให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท ส่งผลให้ชนบทได้รับการพัฒนามีความเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ และยังจะสอดคล้องกับความต้องการสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกของท้องถิ่นในชนบทอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการภาษีทั้ง 2 มาตรการในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้มาตรการละประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 สิงหาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ