คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (ทก.) เสนอ มอบหมายให้ ทก. โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการใช้การพัฒนามาตรฐานและระบบทะเบียนรหัสสินค้าและบริการของประเทศไทยที่จำเป็นสำหรับการซื้อขายทางออนไลน์และสนับสนุนการทำงานร่วมกับเอกชน ให้มีการนำมาตรฐานรหัสสินค้าและบริการไปใช้อย่างแพร่หลายอันสอดคล้องกับมาตรฐานสากลต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ทก. รายงานว่า
1. มาตรฐานรหัสสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ซื้อผู้ขายเข้าใจตรงกัน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูล และทำการเปรียบเทียบข้อมูลสินค้าได้อย่างสะดวก ลดความผิดพลาดที่ผู้ขายจะโฆษณาสินค้าหรือบริการเดียวกันด้วยคำอธิบายที่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันหลายหน่วยงานของประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานรหัสสินค้าและบริการขึ้นมาใช้เองเป็นการเฉพาะภายในหรือกำหนดโดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากลเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันแต่ละองค์กร แต่ยังไม่มีการรวมระบบการทำงานเข้าด้วยกัน ไม่มีฐานข้อมูลกลางที่เก็บรายละเอียดคุณลักษณะสินค้าของผู้ผลิตส่งผลกระทบกับการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไม่มีรหัสกลางเพื่ออ้างอิงข้อมูลสินค้าที่มาจากผู้ผลิตเดียวกัน โดยผู้จัดจำหน่ายแต่ละราย ใส่รายละเอียดของสินค้าแตกต่างกันทั้งที่สินค้ามาจากผู้ผลิตเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดการสับสน และเกิดความไม่เชื่อมั่นในการซื้อขายผ่านช่องทาง e-Commerce มาตรฐานรหัสสินค้าและบริการสำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบทะเบียนสำหรับเก็บข้อมูลรายละเอียดของสินค้าและบริการ จะทำให้ผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย และผู้จัดจำหน่ายสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านช่องทางการซื้อขายออนไลน์ที่มีชื่อเสียง เช่น Alibaba ทั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรฐานสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและบริการกับภาคเอกชน สามารถค้นหาสินค้าหรือบริการได้ง่าย รวมทั้งทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าเพื่อนำไปสู่การจัดซื้ออย่างเป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ
2. ประเทศไทยมีการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสทางการตลาดในการทำ e-Commerce เพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการจัดทำมาตรฐานรหัสสินค้าและบริการกลางที่จะช่วยให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ค้นหา ตรวจสอบ เปรียบเทียบข้อมูลสินค้าได้ จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าที่มีการซื้อขายทั้งหน้าร้านและการซื้อขายออนไลน์ รวมไปถึงสินค้านำเข้าส่งออก ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และหน่วยงานภาครัฐ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบสำหรับใช้ในด้านการตลาดและด้านสถิติได้ ซึ่งจะเพิ่มและกระตุ้นมูลค่าการค้าทั้งภายในและต่างประเทศได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับเรื่องดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและบริการ และพัฒนาระบบทะเบียนรหัสสินค้าและบริการของประเทศไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 สิงหาคม 2559--