มาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล (ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างประกาศ รวม 4 ฉบับ)

ข่าวการเมือง Tuesday August 9, 2016 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล

2. อนุมัติหลักการ

2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

3. เห็นชอบในหลักการ

3.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

3.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการพิจารณาให้บุคคลธรรมดาสามารถโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการให้นิติบุคคลตั้งใหม่ได้

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้ พึงประเมินตามมาตร 40 (7) คือเงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ และ (8) คือเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ที่มีอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่สูงกว่าร้อยละ 60 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 60 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินใด ๆ ให้แก่บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง ตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

2.2 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง ตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

3. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ โอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลตั้งใหม่นั้นจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

4. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนและนิติกรรม สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่โอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลตั้งใหม่นั้นจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 สิงหาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ