คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ และให้รายงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
คสช.เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 25 (1) และมาตรา 46 กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่และอำนาจจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ สำหรับใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยมีองค์ประกอบตามหมวด 5 มาตรา 46 ถึงมาตรา 48 และกำหนดให้มีสาระสำคัญอย่างน้อย 12 เรื่อง ได้แก่
(1) ปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ
(2) คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ
(3) การจัดให้มีหลักประกันและความคุ้มครองให้เกิดสุขภาพ
(4) การสร้างเสริมสุขภาพ
(5) การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ
(6) การบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ
(7) การส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ
(8) การคุ้มครองผู้บริโภค
(9) การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ
(10) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ
(11) การผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข และ
(12) การเงินการคลังสุขภาพ ทั้งนี้ มาตรา 46 วรรคสี่ กำหนดให้ทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยทุกห้าปี
2. ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้มีสาระสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่
(1) ส่วนนำ
(2) ส่วนนิยามศัพท์
(3) ส่วนหลักการสำคัญของระบบสุขภาพ และ
(4) ส่วนสาระรายหมวด เฉพาะส่วนสาระรายหมวด ประกอบด้วยข้อความ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหลักการสำคัญและส่วนภาพพึงประสงค์ของระบบสุขภาพในหมวดนั้น ๆ ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า นำเสนอในรูปแบบตารางแสดงข้อความของธรรมนูญฯ รายข้อ พร้อมแสดงคำอธิบายของเจตนารมณ์ของร่างข้อความในแต่ละข้อประกอบไว้ด้วย
สาระสำคัญของร่างธรรมนูญฯ
1. ส่วนนำ ประกอบด้วยแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจมีผลต่อระบบสุขภาพ ใน 10 ปีข้างหน้า
2. กำหนดให้มีคำนิยามศัพท์ ทั้งสิ้น 73 คำนิยาม
3. กำหนดปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ การจัดให้มีหลักประกันและความคุ้มครองให้เกิดสุขภาพ
4. กำหนดหลักการ ภาพพึงประสงค์ และเจตนารมณ์เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ การบริการสาธารณสุขและการสร้างหลักประกันคุณภาพ การส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่น การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ การสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพ การเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ การสร้างและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ การเงินการคลังด้านสุขภาพ สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา การอภิบาลระบบสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 สิงหาคม 2559--