คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดให้การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือการไม่แต่งตั้งคณะกรรมการ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการจะต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลหรือควบคุมการปฏิบัติงานของผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้อง หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ให้สั่งแก้ใหม่ให้ถูกต้อง ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการไม่ดำเนินการแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องภายในเวลาอันควร ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลหรือควบคุมการปฏิบัติงานของผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการนั้น มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการแทนผู้มีอำนาจแต่งตั้งนั้นได้ตามที่เห็นสมควร
2. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลหรือควบคุมการปฏิบัติงานของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐกระทำหรือมีส่วนในการกระทำละเมิด
3.กำหนดให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สั่งการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.)
4. เมื่อหน่วยงานของรัฐที่เสียหายสั่งการตามความเห็นของ กค. แล้วให้ผู้แต่งตั้งดำเนินการเพื่อออกคำสั่งให้ผู้ต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนหรือฟ้องคดีต่อศาล อย่าให้ขาดอายุความ
5. กำหนดให้กรณีที่ปรากฏตามความเห็นของ กค. ว่ามีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นหรือต่างไปจากสำนวนที่ผู้แต่งตั้งส่งให้ตรวจสอบ หากยังไม่เคยมีการสอบผู้นั้นในฐานะผู้ต้องรับผิดมาก่อน ให้ผู้แต่งตั้งส่งเรื่องให้คณะกรรมการทำการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดผู้นั้นเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ ถ้าผลของคำวินิจฉัยของผู้แต่งตั้งตรงกับความเห็นของ กค. ให้ผู้แต่งตั้งสั่งการให้ผู้นั้นรับผิดแล้วรายงาน กค. เพื่อทราบ ถ้าผลของคำวินิจฉัยของผู้แต่งตั้งต่างไปจากความเห็นของ กค. ให้ผู้แต่งตั้งรายงาน กค. พิจารณาให้ความเห็นอีกครั้งหนึ่ง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 สิงหาคม 2559--