คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้
1. ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี–สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก)
2. ข้อยกเว้นการปฎิบัติมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 [เรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน] ที่กำหนดให้โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เกิดขึ้นในอนาคต ต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ในบริเวณ 25ตารางกิโลเมตร(พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์)
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่าการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี–สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) มีวัตถุประสงค์ ในการรองรับการเดินทางจากการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรี และส่งเสริมการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ได้มีการกำหนดแนวเส้นทาง ตำแหน่งสถานที่ โรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองให้มีความสอดคล้องกับการเดินทางและการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและในแผนการพัฒนาต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ความยาวของแนวเส้นทาง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ รวมระยะทั้งสิ้น 2.68 กิโลเมตร
ระยะที่ 1 ช่วงถนนกรุงธนบุรี แยกคลองสาน (BTS กรุงธนบุรี-โรงพยาบาลตากสิน รวมระยะทาง 1.72กิโลเมตร (3 สถานี) เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีกรุงธนบุรี โดยแนวเส้นทางจะวิ่งมาตามถนนกรุงธนบุรีมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณารามมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือไปตามถนนเจริญนคร ผ่านถนนเจริญรัถผ่านแยกคลองสาน และสิ้นสุดระยะที่ 1 หน้าโรงพยาบาลตากสิน (คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปี 2561)
ระยะที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนประชาธิปก (โรงพยาบาลตากสิน–วัดอนงคารามวรวิหาร) รวมระยะทาง 0.96 กิโลเมตร 1สถานี) เริ่มจากหน้าโรงพยาบาลตากสินถนนสมเด็จเจ้าพระยา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งคู่ขนานไปกับคลองสมเด็จเจ้าพระยาผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาข้ามถนนท่าดินแดง มุ่งหน้าสู่ถนนประชาธิปกและสิ้นสุดระยะที่ 2 ก่อนถึงบริเวณหน้าวัดอนงคารามวรวิหาร (จะเปิดให้บริการตามการพัฒนาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี 2565)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 กันยายน 2559--